นายกรัฐมนตรี ประธานปลูกป่าและป้องกันไฟป่า จ.เชียงใหม่ น้อมนำแนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ให้คนไทยอยู่กับป่าอย่างสมดุลและยั่งยืน

วันนี้ (24 ก.ค.63) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ร่วมกับ พลเรือเอก ปวิตร รุจิเทศ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัดพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ และประชาชนจิตอาสากว่า 1,000 คน ร่วมถวายพระพร และกล่าวคำปฏิญาณ “เราทำความดีเพื่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์” จากนั้นร่วมปลูกต้นไม้และทำฝายกักเก็บน้ำในอุทยานแห่งชาติน้ำตกบัวตอง น้ำพุเจ็ดสี อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ทั้งนี้เพื่อแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน อีกทั้งเพื่อเป็นการฟื้นฟูดิน น้ำ ป่า สิ่งแวดล้อม กลับคืนระบบนิเวศให้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืนสืบไป


โดยนายกรัฐมนตรีได้ปลูก “ต้นสัก” ซึ่งต้นสักที่นายกรัฐมนตรีปลูกนี้ได้มาจากแม่พันธุ์เสาชิงช้า T1 โดยสักต้นดังกล่าว ตั้งอยู่บริเวณหน่วยประสานงานป้องกันและรักษาป่า (นปป.) จังหวัดแพร่ หมู่ที่ 2 ตำบลไทรย้อย อำเภอเด่นชัย โดยต้นสักนี้ มีขนาดเส้นรอบวงบริเวณโคนต้น 360 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 114 เซนติเมตร ความสูงจากโคนถึงยอดไม้มากกว่า 40 เมตร อยู่ในพื้นที่ราชพัสดุในการดูแลของธนารักษ์พื้นที่แพร่ และกทม. นำมารักษาสายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากตายอดแล้ว จัดส่งให้ศูนย์เพาะชำกล้าไม้เชียงใหม่ขยายพันธุ์ต่อ และทำการcutting ขยายพันธุ์เพื่อจัดเตรียมไว้แจกจ่ายให้ประชาชน และในวันที่ 14 มกราคม 2562 ศูนย์เพาะชำกล้าไม้เชียงใหม่ ได้นำสัก T1 ที่ขยายไว้เป็นแม่พันธุ์ นำมาจัดนิทรรศการที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 31 อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตัดชำสัก T1 ไว้เป็นแม่พันธุ์และให้ทางศูนย์เพาะชำกล้าไม้เชียงใหม่ทำการบำรุงรักษาจนเจริญเติบโตขึ้น และได้นำต้นกล้าสัก T1 ดังกล่าวมาปลูกในครั้งนี้ด้วย ซึ่งกล้าสักพันธุ์ดีนี้ จะมีอัตราการเจริญเติบโตเร็วกว่าสักจากการเพาะเมล็ด เฉลี่ย 5 ปี

ขณะที่ผู้เข้าร่วมงานได้ร่วมกันปลูกกล้าพันธุ์ไม้อีกหลายชนิด เช่น บุนนาค จำปา สัก ประดู่ป่า แคหางค่าง คำมอกหลวง พะยอม ตะเคียนทอง และรวงผึ้ง เป็นต้น

สำหรับ“โครงการปลูกป่า และป้องกันไฟป่า” มีเป้าหมาย พื้นที่ฟื้นฟูป่าและเพิ่มพื้นที่สีเขียวในระยะเวลา 8 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ 2563 – 2570 ในจังหวัดเร่งด่วน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ตาก น่าน นครราชสีมา ชัยภูมิ และจังหวัดนครศรีธรรมราช รวมกันทั้งปีต้องไม่ต่ำกว่าปีละ 11,000 ไร่ ทั้งในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอนุรักษ์ ป่าชุมชน และป่าเศรษฐกิจ