สภาลมหายใจเชียงใหม่

34 ตำบลนำร่อง สรุปบทเรียน แก้ปัญหาไฟป่า-ฝุ่นควัน

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน)ภาคเหนือ ร่วมกับ สภาลมหายใจเชียงใหม่ และภาคีที่เกี่ยวข้อง จัดเวทีสรุปบทเรียนการจัดทำแผนไฟป่า ฝุ่นควัน PM 2.5 ในพื้นที่รูปธรรมนำร่อง 25 ตำบล และ 9 ตำบลของกลุ่มชาติพันธ์มูลนิธิภูมิปัญญาชาติพันธ์ และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้แผนงาน โครงการชุมชนดินน้ำป่าอากาศยั่งยืน 2563 พื้นที่ 34 ตำบลนำร่อง เพื่อแก้ปัญหาระยะยาวลดการเผาไหม้ที่ไม่จำเป็น ขยายผล 101 ตำบล ที่สภาลมหายใจเชียงใหม่ร่วมสนับสนุน

การสรุปบทเรียน มีการแบ่งกลุ่มย่อยตามโซนอำเภอ คือ เหนือ กลาง และใต้ เพื่อรายงานการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนปัญหา ข้อค้นพบ และอุปสรรคปัญหา รวมถึงนำเสนอทิศทางแผนงานการแก้ไขปัญหาไฟป่า-ฝุ่นควัน pm-2.5 ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ในพื้นที่เกษตร และในพื้นที่เมือง ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งแต่พื้นที่ มีการป้องกันไฟป่าและลดฝุ่นควัน ที่แตกต่างกันไปตามบริบท  โดยพบว่าบางตำบล ได้ทำงานร่วมกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้นำชุมชนไปแล้ว และมีแผนที่ชัดเจน ว่าจะป้องกันแบบไหน จะไปช่วยกันดับไฟอย่างไร และจะทำให้เกิดแผนที่มีคุณภาพในรูปแบบไหน ขณะที่อีกหลายตำบลยังไม่มี การลงลึกโดยการชี้เป้าไปที่ระดับหมู่บ้าน เชื่อว่าหากในระดับหมู่บ้านได้ร่วมกันจัดทำแผนบริหารไฟได้ เช่น ไฟที่ไม่จำเป็นต้องไม่เกิดขึ้น ไฟที่จำเป็นก็ต้องใช้อย่างเหมาะสม และลดไฟให้ได้มากที่สุด

ข้อสรุปเบื้องต้น ทุกตำบลเห็นตรงกันว่า แผนที่มีอยู่ แม้จะดีแค่ไหน แต่หากยังทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นไม่ได้ อาจไม่สำเร็จ จึงชี้เป้าไปยังระดับหมู่บ้านเป้าหมาย เพื่อยกให้เป็นหมู่บ้าน ดำเนินการเข้มข้นก่อน เช่น ทางโซนเหนือ ตัวแทนสภาองค์กรชุมชนตำบลแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว มีการตั้งเป้าลงไปยัง 3 หมู่บ้าน ที่อยู่ติดป่า ซึ่งต้องเผชิญเหตุฯทุกปี มีการออกแบบแผน โดยการดึงเอาชาวบ้านที่มีอาชีพในการหาของป่า เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ร่วมดับไฟป่า และรับผิดชอบพื้นที่ ซึ่งเริ่มดำเนินการไปแล้ว แต่ยังไม่มีการตกลงในเชิงมาตราการทางสังคมร่วมกัน ว่าหากยังมีการเผาหรือยังเกิดไฟขึ้นอยู่ คนกลุ่มนี้จะต้องร่วมรับผิดชอบอย่างไร

ขณะที่ตัวแทนสภาองค์กรชุมชนตำบลน้ำบ่อหลวง ซึ่งเป็นอำเภอในโซนใต้ ระบุว่าในพื้นที่ปีที่ผ่านมา ทางตำบลมีแผนทำแนวกันไฟและจัดชุดลาดตระเวนที่ชัดเจน ขณะเดียวกันยังมีการระดมทุนโดยชุมชนด้วยกันเอง เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ฯและชุดดับไฟป่า ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในรูปธรรมที่ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ 7 ตำบล คือ ช่างเคิ่ง ท่าผา บ้านทับ แม่ศึก แม่นาจร ปางหินฝน และกองแขก ในอำเภอแม่แจ่ม ล่าสุดมีการรวมกลุ่มกัน ในรูปแบบเครือข่ายระดับอำเภอที่ชัดเจนขึ้น มีการประสานงานและทำงานร่วมกับ อปท. และจังหวัด ทั้งในรูปจากบนลงล่าง และจากล่างขึ้นบน

ส่วนอำเภอโซนกลาง มีการเสนอให้อำเภอสารภี ซึ่งเป็นอำเภอเดียวที่ไม่ได้รับงบประมาณในการจัดการและแก้ปัญหาไฟป่าของจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากไม่มีพื้นที่ติดป่า เป็นเป้าพื้นที่นำร่อง โดยชูการทำเกษตรอินทรีย์ และวิธีจัดการใบไม้-กิ่งไม้ และเศษวัชพืช ไปบดเป็นปุ๋ย แทนการเผาโล่งแจ้ง

นายธนกร ช่วยค้ำชู ประธานเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า การได้มาพบปะกันของสภาองค์กรชุมชนครั้งนี้ เป้าหมายหลัก คือต้องการทราบว่าแต่ละตำบล มีพื้นที่ที่เกิดไฟป่ากี่หมู่บ้าน มากน้อยแค่ไหน มีความคืบหน้าในการดำเนินงานอย่างไร ซึ่งหลายพื้นที่เริ่มเห็นเป็นรูปธรรมแล้ว ก่อนจะนำแผนที่วางไว้ ไปบูรณาการการทำงานร่วมกับท้องถิ่นในปีหน้านี้

“พบว่ากว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่นำร่อง ชุมชนและท้องถิ่นตอบรับแผน เกิดการตื่นตัวและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี หลังจากนี้เชื่อว่าแผนงานฯของแต่ละตำบล จะถูกนำไปเป็นหนึ่งในแผนปฏิบัติการระดับตำบล หรืออำเภอได้” นายธนกร กล่าว

คุณสุรีรัตน์ ตรีมรรค รองประธานคณะกรรมการอำนวยการ สภาลมหายใจเชียงใหม่ ระบุว่า เกือบ 1 ปี ในการสนับสนุนขบวนของสภาองค์กรชุมชน ในการช่วยแก้ปัญหาไปฟ่าและฝุ่นควัน ซึ่งต้องยอมรับว่า ยังไม่ประสบความสำเร็จ เห็นได้จากฝุ่นควันในปี 2563 ที่ยังคงหนัก จึงจำเป็นต้องมาร่วมกันสรุปบทเรียน ตลอดทั้ง 2 วัน ชัดเจนที่สุด คือทำให้ทราบว่า เงื่อนไขที่สำคัญที่สุด คือความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะจากทางสภาองค์กรชุมชนตำบล ที่ต้องทำงานร่วมกับชุมชม กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน และ อปท.

“เบื้องต้นตอนนี้ ยังมีแต่แผนที่พื้นที่นำร่องเสนอ ยังไม่ได้ดูถึงงบประมาณ หลังจากนี้จะมีการสังเคราะห์ แผนว่าขาดตกบกพร่องส่วนไหน และมีคุณภาพหรือไม่ เพื่อที่จะกำหนดว่ากิจกรรมอะไรบ้าง ที่จะนำไปบูรณการกับภารกิจของ อปท. และกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน นอกเหนือจากภารกิจการดับไฟ  โดยหนึ่งในแผนที่ขอให้ทุกตำบลดำเนินการ คือการจัดตั้งกองทุนในระดับตำบล ซึ่งอาจจะเป็นกองทุนลมหายใจในตำบล โดยให้ชุมชนเป็นผู้ระดมทุน ซึ่งทุนอาจจะมาจาก อปท. ชุมชน หรือมาจากการเก็บค่าธรรมเนียมในการหาของป่าในป่าชุมชน ขณะที่สภาลมหายใจเชียงใหม่ ก็จะนำเงินที่ได้จากการบริจาคไปสมทบ เพื่อใช้พื้นที่นำร่องสามารถดำเนินการได้ตามแผน นอกจากนี้ ยังมีการหารือถึงการจัดทำสวัสดิการให้กับคนที่เข้าไปดับไฟป่าด้วย”รองประธานฯ สภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าว

สำหรับสภาองค์กรชุมชนตำบล ถือเป็นหนึ่งในกลไกลหลัก ที่สำคัญ และช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนในระดับชุมชนและท้องถิ่น ขณะเดียวกันก็มีกฎหมายรองรับ ซึ่งจะหนุนเสริมและสนับสนุน และมองว่าเป็นฐานในการจะร่วมกันแก้ปัญหาจากสาเหตุจริงๆ โดยหลังจากนี้ชุดทำงานโครงการชุมชนดินน้ำป่าอากาศยั่งยืนฯ สภาลมหายใจเชียงใหม่ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน)ภาคเหนือ จะร่วมกันสังเคราะห์ข้อเสนอและแผนงานของพื้นที่นำร่อง ก่อนจะนำเข้าเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการสภาลมหายใจเชียงใหม่ ในเดือนกันยายนนี้ และนำเสนอต่อคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน และไฟป่าจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งผู้ว่าราชการฯ แต่งตั้ง ให้รับทราบต่อไป/

บทความอื่นๆ

อ่านบทความอื่นที่เกี่ยวข้อง

ดุลพินิจ : นโยบาย และอำนาจตัดสิน

มีคนส่งเพจ “คุยกับอธิบดีกรมป่าไม้” มาให้ดู ท่านเอาภาพมุมสูงถ่ายจากเครื่องบินแสดงให้เห็นการทำลายเผาป่าอมก๋อย บางแปลงชัดเจนมาก เผาขยายที่ ไฟ …

ทรัพยากรธรรมชาติของชาติของประชาชน 1

“ป่าเป็นทรัพยากรธรรมชาติของชาติของประชาชนใช่มั๊ย?” เจ้าหน้าที่ที่ดูแลป่าใช้เงินภาษีของประชาชนใช่มั๊ย?” ป่าของทุกคนถูกไหม้ป่าถูกทำลาย ทุกคนก็อยากช่วยดู …

ทรัพยากรธรรมชาติของชาติของประชาชน 3

“ป่าเป็นทรัพยากรธรรมชาติของชาติของประชาชนใช่มั๊ย?” เจ้าหน้าที่ที่ดูแลป่าใช้เงินภาษีของประชาชนใช่มั๊ย?” ป่าของทุกคนถูกไหม้ป่าถูกทำลาย ทุกคนก็อยากช่วยดู …

โครงการเขียวสู้ฝุ่น / Green City

โครงการเขียวสู้ฝุ่น/Green City เป้าหมาย เชื่อมร้อยและผลักดันการฟื้นฟูระบบนิเวศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ / พัฒนาแนวทางการจัดการเมืองสีเขียว เพื่อลดฝุ่นควั …