“ป่าเป็นทรัพยากรธรรมชาติของชาติของประชาชนใช่มั๊ย?”
เจ้าหน้าที่ที่ดูแลป่าใช้เงินภาษีของประชาชนใช่มั๊ย?”
ป่าของทุกคนถูกไหม้ป่าถูกทำลาย ทุกคนก็อยากช่วยดูแลรักษา แต่ทำไมยากเย็นแสนเข็ญ ถูกกีดกันถูกปิดกั้น มันเกิดอะไรขึ้น (วะ) ลองมาวิเคราะห์ดูสาเหตุเกิดจากนโยบาย กฏหมายป่าไม้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า (2503) อุทยานแห่งชาติ (2504) ป่าสงวน แห่งชาติ (2507) ที่ออกสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ประกาศโดยไม่มีการเดินสำรวจจริงในพื้นที่ ประกาศทับพื้นที่ชุมชนที่อยู่มาก่อน ชุมชนจึงกลายเป็นผู้ผิดกฏหมาย “กฏหมายป่าไม้บุกรุกชาวบ้าน ไม่ใช่ชาวบ้านบุกรุกป่า”
มีข้อมูลงานวิจัยทั่วประเทศมีชาวบ้านอยู่ในเขตป่าที่กฏหมายประกาศทับ ถึง 10-12 ล้านคน อยู่ๆรัฐบาลก็ทำให้ประชาชนผิดกฏหมายมากมาย ลองคิดดูเมื่ออยู่ในพื้นที่ผิดกฏหมายเอกสารสิทธิที่ดินก็ออกไม่ได้ ไฟฟ้าประปาก็ไม่ได้ การพัฒนาจากกระทรวง กรม หน่วยงานต่างๆก็ไม่ได้ แถมยังถูกไล่จับกันทุกวี่วัน
รัฐเป็นเจ้าของป่าเพียงผู้เดียว
เจ้าหน้าที่บอกอย่างเดียวว่าต้องทำตามกฏหมาย มีการเรียกร้องของชาวบ้าน องค์กรพัฒนาและนักวิชาการมาต่อเนื่อง

รัฐบาลทุกรัฐบาลก็บอกว่าต้องจำแนกเขตชุมชนกับเขตป่าให้เขตเจน กี่ปีกี่รัฐบาลก็ไม่สำเร็จปล่อยให้เป็นปัญหาทะเลาะกันขัดแย้งกันไม่รู้จบ ถึงเวลาที่ต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แก้ให้จบกันซะที เปลี่ยนความขัดแย้งให้เป็นร่วมมือในการดูแลป่า ดูแลไฟ ดูแลฝุ่นควันร่วมกัน เมื่อเปลี่ยนมุมมองเราจะมีชาวบ้าน 10-12ล้านคนช่วยกันดูแลป่า เหมือนที่เรามี อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) นับล้านคนช่วยกันดูแลป้องกันเชื้อโควิต19
ในปัจจุบัน แล้วจะต้องมีการวางกติการ่วมกัน มีแผนการจัดการ มีคณะกรรมการร่วมกัน ผมเชื่อว่าด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมนี้จึงจะแก้ปัญหาได้ ป่าก็จะเพิ่มขึ้น การผลิตก็จะยั่งยืนขึ้น คุณภาพชีวิตชาวบ้านก็จะดีขึ้น การบุกรุกของนายทุนหรือใครก็ตามก็จะลดลง และจะสามารถแก้ปัญหาฝุ่นควันpm2.5ได้อย่างยั่งยืน ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ทั้งรัฐ ชุมชน คนในเมือง และสังคมภาพรวม

สภาลมหายใจเชียงใหม่จึงเสนอให้เริ่มสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมนี้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป ขอทุกท่านทุกคนร่วมกันขับเคลื่อนร่วมกันติดตามครับ #สภาลมหายใจเชียงใหม่
เรื่องโดย : ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานคณะกรรมการอำนวยการ สภาลมหายใจเชียงใหม่