โครงการรถสองแถวโมเดล
รถโดยสารสาธารณะเครื่องยนต์สะอาด
1. หลักการและเหตุผล
ทุกๆปีระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน จังหวัดเชียงใหม่ต้องเผชิญกับปัญหาความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 ที่สูงเกินค่ามาตรฐานซึ่งมีแหล่งมลพิษหลักมาจากการเผาในที่โล่ง นับเป็นวิกฤตเรื้อรังที่เกิดขึ้นมายาวนานกว่า 15 ปี ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมาก แต่ในพื้นที่เมืองเชียงใหม่ที่ยังไม่มีระบบขนส่งสาธารณะที่สมบูรณ์ ประชากรต้องมียานพาหนะส่วนบุคคล มีจำนวนยานพาหนะทุกประเทศจดทะเบียนจำนวน 1.54 ล้านคัน มลพิษอากาศจากการจราจรจึงเป็นแหล่งก่อมลพิษอากาศที่สำคัญ แหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 เฉลี่ยทั้งปีที่มาจากการจราจรในจังหวัดเชียงใหม่ถึง 51.6% (โฉมศรี ชูช่วย, 2563) ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์จากเครื่องยนต์ดีเซลและเครื่องยนต์ไม่ได้รับการซ่อมบำรุงอย่างสม่ำเสมอ PM2.5 จึงถูกปล่อยออกมาพร้อมกับก๊าซที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศในรูปแบบของควันดำ
จังหวัดเชียงใหม่มีจำนวนยานพาหนะใช้น้ำมันดีเซลที่จดทะเบียนทั้งหมด 380,673 คัน (สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ พฤษภาคม 2564) ประกอบด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล รถบรรทุกขนาดเล็ก (กระบะ) รถจักรยานยนต์ ในกลุ่มยานพาหนะเครื่องยนต์ดีเซลทั้งหมดมีรถโดยสารสาธารณะไม่ประจำทาง (รถแดง รถกระบะดัดแปลงเป็นรถสองแถว) และรถโดยสารสาธารณะประจำทาง (รถสองแถว มีสีต่างๆตามเส้นทางที่ได้รับอนุญาต) รวมประมาณ 4,000 คัน ให้บริการรับส่งผู้โดยสารในเมืองถึงเขตวงแหวนรอบสองและระหว่างอำเภอกับเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ มีจุดรับส่งถ่ายเทผู้โดยสารในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ (เชื่อมเมืองกับ อ.แม่ริม อ.ฝาง อ.ดอยสะเก็ด อ.จอมทอง อ. สันกำแพง อ.แม่แตง อ.พร้าว อ.สันป่าตอง อ.แม่วาง) กิจการรถโดยสารสาธารณะสองแถวเหล่านี้อยู่ภายใต้การดำเนินงานในรูปสหกรณ์ เช่นสหกรณ์นครเชียงใหม่เดินรถ จำกัด, สหกรณ์เดินรถสันกำแพง จำกัด และบริษัท เชียงใหม่ร่มหลวงเดินรถ
แม้ว่าระเบียบของกรมการขนส่งจะกำหนดให้รถโดยสารสาธารณะตรวจสภาพรถทุกๆ 6 เดือนเพื่อให้รถโดยสารสาธารณะมีเครื่องยนต์สะอาด แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะได้รับผลกระทบอย่างมากจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติเดินทางมาเยือน อีกทั้งนักเรียน นักศึกษาเรียนออนไลน์ ส่งผลให้กิจการค้าและบริการขนาดเล็กต้องเลิกกิจการ มีคนเดินทางน้อยลง ปัจจุบันรถโดยสารสาธารณะมีผู้โดยสารเหลือเพียง 10 % จากปกติ แต่เนื่องจากปัญหามลพิษจากยานยนต์ยังคงเป็นแหล่งมลพิษหลักในพื้นที่เมืองต่อไปในระยะยาวที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง สภาลมหายใจเชียงใหม่จึงใคร่จะนำปัญหาเรื่องเครื่องยนต์ปล่อยไอพิษควันดำหารือกับทุกภาคส่วนเพื่อสร้างความร่วมมือให้เกิดรถโดยสารสาธารณะเครื่องยนต์สะอาดในพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่และอำเภอเมือง ด้วยการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องยนต์ และซ่อมบำรุงเครื่องยนต์อย่างสม่ำเสมอในราคาที่ย่อมเยา
2. เป้าหมาย
- สร้างกลไกการทำงานในการสร้างความเข้าใจและสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ เจ้าของรถสองแถว เจ้าของยานยนต์ และภาคธุรกิจเอกชนขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 จากเครื่องยนต์และแหล่งกำเนิดมลพิษอากาศในพื้นที่เมืองเชียงใหม่
- ลดแหล่งมลพิษอากาศจากยานยนต์ในจังหวัดเชียงใหม่โดยสร้างตระหนักในฐานะผู้ใช้ยานยนต์และร่วมลงมือรักษาเครื่องยนต์ให้ปลอดมลพิษ เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ ไปพร้อมกับความพยายามลดการเผาในพื้นที่โล่งนอกเมืองที่เป็นพื้นที่ป่าและเกษตรกรรม
3. วัตถุประสงค์
- เพื่อพัฒนาความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการเดินรถขนส่งสาธารณะ ศูนย์จำหน่ายและบริการซ่อมบำรุงรถยนต์ ในการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ให้มีประสิทธิภาพในการเผาไหม้เชื้อเพลิงให้สมบูรณ์ขึ้น
- เพื่อเป็นต้นแบบของรถขนส่งสาธารณะเครื่องยนต์สะอาด กระตุ้นให้ผู้ใช้ยานยนต์ส่วนบุคคลในจังหวัดเชียงใหม่รักษาเครื่องยนต์ปลอดมลพิษอากาศ
- เพื่อสร้างความตระหนักถึงแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5และมลพิษทางอากาศในพื้นที่เมือง
- เพื่อสร้างเครือข่ายทำงานแก้ไขปัญหาฝุ่นควันในเมืองเชียงใหม่ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
4. หน่วยงานและองค์กรทีทำงานร่วมกัน
สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่ สหกรณ์เดินรถโดยสารสาธารณะในจังหวัดเชียงใหม่ บริษัทน้ำมัน ผู้ประกอบการธุรกิจค้ารถยนต์และซ่อมแซมเครื่องยนต์(อู่)ในจังหวัดเชียงใหม่ และสภาลมหายใจเชียงใหม่
5. วิธีการดำเนินโครงการ
1) สภาลมหายใจเชียงใหม่ประสานงานกับสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ สหกรณ์ลานนาเดินรถ จำกัด, สหกรณ์นครเชียงใหม่เดินรถ จำกัด, สหกรณ์เดินรถสันกำแพง จำกัด, บริษัท เชียงใหม่ร่มหลวงเดินรถ จำกัด และตัวแทนผู้ประกอบการยานยนต์ เข้าร่วมโครงการ
2) สภาลมหายใจเชียงใหม่ทำงานผ่านกลไกคณะกรรมการป้องกันแก้ไขปัญหาฝุ่นควันจังหวัดเชียงใหม่และประสานงานกับหน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสาธารณะและการจราจรในเทศบาลเมืองเชียงใหม่ ได้แก่ เทศบาลนครเชียงใหม่ สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ สำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ (กลุ่มงานจราจร) ภาคธุรกิจเพื่อสังคม เพื่อร่วมกันรณรงค์ให้เชียงใหม่เป็นเมืองปลอดควันดำจากเครื่องยนต์
3) สภาลมหายใจเชียงใหม่ประสานกับภาครัฐ ธุรกิจเอกชนในท้องถิ่น และในส่วนกลาง (สำนักงานใหญ่บริษัทค้าน้ำมันต่างๆ) เพื่อดำเนินกิจกรรม
3.1 ร่วมกับสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ในการตรวจควันดำรถสองแถวประจำทุกครึ่งปี
โดยสภาลมหายใจเชียงใหม่ติดสติ๊กเกอร์ “รถเครื่องยนต์สะอาด เพื่ออากาศบริสุทธิ์” ให้รถที่ผ่านการตรวจเครื่องยนต์ตามมาตรฐาน ดำเนินการไปแล้วครั้งที่ 1 วันที่ 12 กันยายน 2564 จำนวนรถโดยสารประจำทางสีเหลืองประมาณ 150 คัน
3.2 สภาลมหายใจเชียงใหม่ประสานขอความสนับสนุนจากบริษัทค้าน้ำมันจำหน่ายน้ำมันเครื่องราคาพิเศษแก่เจ้าของรถโดยสารสาธารณะ เพื่อจุนเจือเจ้าของรถที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการควบคุมโรคระบาด นอกจากขาดรายได้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแล้ว ยังไม่สามารถชำระหนี้สินค่าซื้อรถให้แก่สหกรณ์เดินรถได้
3.3 สร้างความร่วมมือจากผู้ประกอบการธุรกิจค้ารถยนต์และซ่อมแซมเครื่องยนต์(อู่)
ให้บริการตรวจสภาพ หรือซ่อมเครื่องยนต์รถสองแถวในราคาพิเศษ
3.4 สภาลมหายใจเชียงใหม่เป็นคณะทำงานหลักในการประสานงาน ติดตามและรายงานผลการดำเนินงานของโครงการ และจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์โครงการสองแถวโมเดล เพื่อขนส่งสาธารณะเครื่องยนต์สะอาด
6. ระยะเวลาดำเนินการ
เดือนกรกฎาคม 2564 – เดือนกรกฎาคม 2565
ที่ปรึกษาโครงการ
- ดร. ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการ ศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่าง ยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- นางสิริสุภา โตแสงชัย ผู้ช่วยกรรมการบริหาร ฝ่ายบริการหลังการขาย บริษัท แสงชัยมอเตอร์เซลล์ จำกัด
- นายไพรัข โตวิวัฒน์ กรรมการ คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน
- นายอาคม สุวรรณกันธา กรรมการ รองเลขาธิการ หอการค้าเชียงใหม่
หัวหน้าโครงการ
นางปลายอ้อ ทองสวัสดิ์ แผนพัฒนานโยบายขนส่งสาธารณะและรถพลังงานไฟฟ้า สภาลมหายใจเชียงใหม่
คณะทำงาน
- นางสาวสุกัญญา อุ่นใจ ผู้ประสานงานแผนพัฒนานโยบายขนส่งสาธารณะและรถพลังงานไฟฟ้า
แผนพัฒนานโยบายขนส่งสาธารณะและรถพลังงานไฟฟ้า สภาลมหายใจเชียงใหม่ 81/6 ม. 14
ต.สุเทพ อ.เมือง เชียงใหม่ 50200
- นายวันชนะ จิตตะ ผู้ประสานงานแผนแผนพัฒนานโยบายขนส่งสาธารณะและรถพลังงานไฟฟ้า

