พัชรินทร์ สุกัณศีล
19 สิงหาคม 2564
ในปี พ.ศ.2529 มีบริษัทเอกชนใหญ่จากกรุงเทพฯเสนอโครงการกระเช้าลอยฟ้าขึ้นดอยสุเทพ โดยสร้างจากเชิงดอยสุเทพใกล้สวนสัตว์เชียงใหม่ไปลงบริเวณวัดพระธาตุดอยสุเทพ โครงการนี้เกิดขึ้นเนื่องจากในปี พ.ศ.2524 ททท.(การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) ได้จัดทําแผนหลักพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ขึ้นเน้นสถิติรายได้ และปริมาณนักท่องเที่ยว แผนหลักนี้ ททท. ได้ว่าจ้างให้บริษัทเอกชน 4 บริษัทเป็นผู้จัดทํา หนึ่งในบริษัทคือ บริษัทโฟร์เอสจํากัด ต่อมาในปี พ.ศ. 2528 เอกชนจัดตั้งบริษัทท่องเที่ยวพัฒนาขึ้นเพื่อรับเป็นผู้ดําเนินการโครงการสร้างกระเช้าลอยฟ้าขึ้นดอยสุเทพ หุ้นส่วนหนึ่งในบริษัทใหม่คือบริษัทโฟร์เอสจํากัด ซึ่งเคยรับงานจัดทําแผนหลักพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่
เมื่อข่าวนี้แพร่ไปในจังหวัดเชียงใหม่โดยประชาชนรับทราบข่าวจากหนังสือพิมพ์ ต้นปี พ.ศ.2529 โครงการกระเช้าลอยฟ้าขึ้นดอยสุเทพถูกวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นในแง่ผลกระทบหลายๆด้าน โดยเฉพาะด้านวัฒนธรรมและความสําคัญทางศาสนาของวัดพระธาตุดอยสุเทพ พระสงฆ์ ประชาชน นักวิชาการ นักศึกษาเริ่มเคลื่อนไหว
ผู้อาวุโสในจังหวัดเชียงใหม่หลายท่าน อาทิ เจ้าชาญ สิโรรส (ทายาทเจ้าชื่น สิโรรส) คุณวรศักดิ์ นิมานันท์ (อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ของเชียงใหม่) คุณทองอินทร์ ชนะนนท์ (บุตรชายขุนกัน ชนะนนท์ ผู้อาสาครูบาศรีวิชัยสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ โดยเสนอให้ตัดโค้งขึ้นเขา โดยไม่ต้องอ้อมเขา ซึ่งใช้เวลานาน) ได้พบปะหารือกันเกี่ยวกับโครงการสร้างกระเช้าลอยฟ้าขึ้นดอยสุเทพ หลังจากนั้นได้เข้าไปกราบนมัสการ เจ้าคุณโพธิรังษี รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ที่วัดพันตอง ปรึกษา ด้วยเห็นว่าโครงการนี้ไม่เหมาะสมที่มาสร้างในพื้นที่ดอยสุเทพ
ผู้บันทึกภาพ : คุณชยันต์ ผลโภค
ขณะเดียวกันอาจารย์หลายท่านในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีการหารือกัน เช่น อาจารย์ศิริชัย นฤมิตรเรขการ ดร. ประศักดิ์ ถาวรยุติกานต์ อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ อาจารย์วิระดา สมสวัสดิ์ ดร.นรินทร์ ทองศิริ ดร.นิรันดร โพธิกา นนท์ อาจารย์เฉลิมพล แซมเพชร อาจารย์ศรวณีย์ สุขุมวาท อาจารย์เครือมาศ วุฒิการณ์ อาจารย์สายแข สรรพกิจจํานง และผู้ห่วงใยสนใจเข้าร่วม ได้แก่ พัชรินทร์ สุกัณศีล และชยันต์ ผลโภค มีการพูดคุยหารือกันหลายครั้ง เพื่อเตรียมข้อมูลของ โครงการและผลกระทบต่อคนวงกว้าง โดยจะจัดกิจกรรมรูปแบบต่างๆ ตั้งชื่อกลุ่มขึ้น “ชมรมเพื่อเชียงใหม่” เพื่อการทํางาน และแสดงการคัดค้านไม่เห็นด้วยกับโครงการกระเช้าลอยฟ้าขึ้นดอยสุเทพ

ในที่สุดทั้งผู้อาวุโส ชมรมเพื่อเชียงใหม่ เข้าไปนมัสการท่านเจ้าคุณโพธิรังษี มีพระหลายองค์ได้เข้ามาร่วมให้ คําปรึกษา เช่น พระครูอนุสรณ์ ศีลขันธ์
กิจกรรมแรกที่จัดขึ้นเพื่อแสดงการคัดค้านโครงการฯ จัดขึ้นวันที่ 24 พฤษภาคม 2529 เริ่มต้นรวมตัวกันที่หน้า อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ มีประชาชนในเชียงใหม่ ศรัทธาวัดต่างๆ กลุ่มหนุ่มสาว นักศึกษา นักเรียน ตัวแทนชมรมเพื่อเชียงใหม่ แถลงการณ์เหตุผลที่คัดค้านการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นดอยสุเทพ มีพระสงฆ์โดยการนําของท่านเจ้าคุณโพธิรังษี สวดให้ศีลให้ พรและประพรมน้ํามนต์แก่ผู้ร่วมเดินขบวนโดยเดินไปตามถนนราชวิถี เข้าถนนช้างม่อย เดินผ่านตลาดวโรรส ตลาดลําไย ไป สิ้นสุดขบวนที่สวนหน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ มีการแจกใบแถลงการณ์ แจกสติ๊กเกอร์ “ฉันรักดอยสุเทพ” ตลอด ทางที่ผ่านประชาชนที่อยู่ตามห้างร้าน ตลาดให้ความสนใจ
สื่อมวลชนให้ความสําคัญลงภาพและข่าวหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและส่วนกลาง มีภาพพระสงฆ์ที่อนุสาวรีย์ สามกษัตริย์ขณะสวดให้ผู้เข้าร่วมขบวนก่อนออกเดินไปตามถนน มีกลุ่มต่างๆเข้าร่วมถือป้ายคัดค้าน นักเรียน นักศึกษาต่าง ทําป้ายมาร่วมขบวน
ในวันที่ 7 มิถุนายน 2529 ทางประชาสัมพันธ์ของโครงการนี้ เชิญผู้แทนสื่อมวลชน 40 คน โดยออกค่าเครื่องบิน และที่พักให้ เพื่อฟังแถลงการณ์โครงการกระเช้าลอยฟ้าขึ้นดอยสุเทพจัดที่โรงแรมเชียงใหม่พลาซ่า เชิญนักธุรกิจ องค์กร ต่างๆในเชียงใหม่ เข้าร่วมรับฟังจํานวนหลายร้อยคน มีการแจกหนังสือจัดทําอย่างดีมีภาพประกอบให้ข้อมูลของโครงการ

หลังจากนั้นทางประชาสัมพันธ์ลงบทความถึงข้อดีของโครงการจะเพิ่มนักท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่งจะดีต่อเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ ชี้แจงจะตัดต้นไม้ 100 กว่าต้น เพราะการก่อสร้างจะเป็นแบบใหม่ กระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก สําหรับขยะจะขนลงมาข้างล่างเพื่อจัดการ ไม่ให้ตกค้างอยู่ข้างบนดอยสุเทพ
ทางสมาชิกของชมรมเพื่อเชียงใหม่ เขียนโต้ตอบถึงความไม่เหมาะสมของโครงการที่จะสร้างในพื้นที่อุทยานดอยสุ เทพ-ปุย และประเด็นเรื่องศรัทธาของคนเชียงใหม่ที่มีต่อพระธาตุและดอยสุเทพ ศูนย์รวมศรัทธาของคนในล้านนา
วันที่ 28 มิถุนายน 2529 ชมรมเพื่อเชียงใหม่และพันธมิตรจากมหาวิทยาลัยพายัพ วิทยาลัยครูเชียงใหม่ (ชื่อในขณะนั้น) วิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพ (ชื่อในขณะนั้น) ร่วมกันจัดงานใหญ่ที่พุทธสถาน

ผู้บันทึกภาพ : คุณชยันต์ ผลโภค


ผู้บันทึกภาพ : คุณชยันต์ ผลโภค


มีการเตรียมการอย่างดี จัดนิทรรศการให้ข้อมูลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบนิเวศของดอยสุเทพ ต่อพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นที่เคารพของคนในล้านนา เน้นให้เห็นความพิเศษของถนนศรีวิชัย เป็นการสร้างถนนโดยการนําของครูบาศรี วิชัย ตนบุญของล้านนา ผู้คนหลั่งไหลมาทําถนนใช้จอบ เสียมขุดดิน บ้างก็เอาวัตถุดิบมาให้เพื่อทําอาหารเลี้ยงคน มีคนช่วยกันทํากับข้าว คือว่าเป็นการทําบุญได้บุญจากตนบุญ ถนนยาว 11 กิโลเมตรใช้เวลา 5 เดือน 22 วัน โดยไม่ใช้งบประมาณแผ่นดิน ไม่ได้ใช้เครื่องมือหนัก
ถนนเส้นนี้จึงเป็นถนนที่แสดงความศรัทธาต่อครูบาศรีวิชัย แสดงให้เห็นความร่วมมือร่วมใจของประชาชน เพื่อจะไปกราบไหว้บูชาพระธาตุ
มีการพูดอภิปรายในห้องประชุมพุทธสถานด้านนอก อาจารย์วิถี พานิชพันธ์ นําปราสาท (ที่เผาของคนล้านนาโดย ไม่ใช้เตาเผา-เมรุ) เขียนด้านข้างกระเช้าลอยฟ้าขึ้นดอยสุเทพ เป็นการแสดงออกที่แรงมาก มีการตั้งโต๊ะให้คนที่มาร่วมงาน ลงชื่อคัดค้านโครงการนี้เพื่อเตรียมยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้มีการระงับโครงการพร้อมแนบรายชื่อของ ประชาชน
สมาชิกชมรมเพื่อเชียงใหม่ ซึ่งมีความรู้ทําวิจัยในพื้นที่ดอยสุเทพได้ร่วมกันสํารวจเส้นทางของกระเช้าไฟฟ้า ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ดร.ฮันส์ บาน์ซิงเกอร์ นักกีฏวิทยา ผู้ทํางานค้นคว้าวิจัยพืชสัตว์บนดอยสุเทพนําการสํารวจ ต่อมามีบทความแสดงผลสํารวจจะมีการตัดต้นไม้มากกว่าที่โครงการเขียนไว้ระบบนิเวศจะได้รับผลกระทบ
ต่อมามีอาจารย์หลายท่านจากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.อู่แก้ว ประกอบไวทย กิจ ดร.สตีฟ อิลเลียต อาจารย์แม็กแวล ได้เผยแพร่ข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2451 มีนักพฤกษศาสตร์ต่างชาติเข้ามาสํารวจพื้นที่ดอยสุเทพแสดงให้เห็นว่าเป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติที่สําคัญ
วันที่ 29 มิถุนายน 2529 รองผู้ว่าททท. กับตัวแทนของโครงการกระเช้าลอยฟ้าขึ้นดอยสุเทพร่วมกับทีวีช่อง 8 เสนอผลดีของกระเช้าฯ เป็นเวลา 1 ชั่วโมง
วันที่ 1 กรกฎาคม 2529 ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายชัยยา พูนศิริวงศ์ ได้แถลงข่าวที่ศาลากลาง เสนอให้ระงับการพิจารณาสร้างกระเช้าลอยฟ้า โดยให้เหตุผลว่า จะทําให้ศาสนาร้าวและเป็นตัวทําลายจิตใจของประชาชน ถ้าโครงการดําเนินต่อไป จะสร้างความแตกแยกให้กับคณะสงฆ์และชาวเชียงใหม่
การคัดค้านกระเช้าลอยฟ้าดอยสุเทพเป็นก้าวแรกของประชาชนเล็กๆของเมืองเชียงใหม่ บอกแก่คนภายนอกเรา ขอกําหนดวิถีชีวิตของเราเองด้วยมาตรฐานคุณค่าที่เราเชื่อถือมาแต่บรรพบุรุษ