สภาลมหายใจเชียงใหม่

โครงการแข่งขันประกวดคลิปสั้น “ฝุ่นเชียงใหม่ มาจากไหน ?”

การแข่งขันประกวดคลิปสั้น
หัวข้อ “ฝุ่นเชียงใหม่ มาจากไหน ?”
ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 34,000 บาท

แนวคิด

ฝุ่นควัน ถือเป็นปัญหาที่ชาวเชียงใหม่คุ้นเคยและจำต้องทนพบเจอมามากกว่า 10 ปี ซึ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในช่วงปลายฤดูหนาว เข้าฤดูแล้ง หรือที่คนในพื้นที่เรียกว่า ‘ฤดูฝุ่นควัน’ สาเหตุของวิกฤตการณ์ดังกล่าวมาจากหลายปัจจัย เช่น ไฟป่า การเผาในที่โล่ง ไอเสียจากการจราจร สภาพภูมิประเทศแบบแอ่งภูเขา สภาพภูมิอากาศ ฯลฯ โดยส่งผลกระทบในด้านสุขภาวะ ความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ ปัจจัยด้านสังคม รวมถึงด้านเศรษฐกิจในแง่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ แม้ว่าที่ผ่านมา จะเกิดความร่วมมือในการพยายามแก้ไขปัญหาจากทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน แต่ดูว่าเหมือนสถานการณ์ปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ของจังหวัดเชียงใหม่ที่มีความซับซ้อนยังคงปรากฎขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่มีท่าทีทุเลาลง 

โครงการแข่งขันประกวดคลิปสั้น สภาลมหายใจเชียงใหม่ จึงมีแนวความคิดที่จะส่งเสริม นำเอาศาสตร์ด้านการสื่อสารด้วยสื่อวิดีทัศน์อย่างสร้างสรรค์มาร่วมบูรณาการณ์แก้ไขปัญหาฝุ่นควัน โดยให้นักเรียน นักศึกษา หรือผู้ที่มีความสนใจในประเด็นดังกล่าว ร่วมนำเสนอแนวคิดและสร้างสรรค์วิธีการสื่อสาร ภายใต้หัวข้อ “ฝุ่นเชียงใหม่ มาจากไหน ?” เพื่อสร้างองค์ความรู้และแนวทางแก้ไขปัญหา อีกทั้งยังเป็นการสร้างความตระหนักถึงปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศ ให้กับประชาชนทั่วไปและที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่

วัตถุประสงค์

  • สร้างความตระหนักถึงปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศในจังหวัดเชียงใหม่
  • ผลักดันและส่งเสริมให้มีการนำศาสตร์ด้านการผลิตสื่อวิดีทัศน์มาบูรณาการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศอย่างมีส่วนร่วม
  • ส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา หรือผู้ที่มีความสนใจ ได้นำเสนอความคิดและความสามารถในการสร้างสรรค์วิธีการสื่อสาร ในประเด็นปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศ

โจทย์ประกวดการแข่งขัน

“ฝุ่นเชียงใหม่ มาจากไหน ?”

คุณสมบัติของผู้เข้าประกวด

  • ประกอบด้วยสมาชิก 1-5 คน 
  • ไม่จำกัดอายุ
  • ไม่จำกัดเพศ
  • ไม่จำกัดสัญชาติและเชื้อชาติ

เงื่อนไขการประกวด

  • ผู้เข้าประกวดสามารถส่งผลงานคลิปสั้นได้ทั้งในนามบุคคลและในนามทีม กรณีส่งในนามทีม และได้รับรางวัล เงินรางวัลจะมอบให้ในนามทีม (1รางวัล) และประกาศนียบัตรจะได้รับเป็นรายบุคคล
  • คลิปสั้นที่ส่งเข้าประกวดจะต้องมีความยาวอย่างน้อย 1.30 นาที และไม่เกิน 3 นาที รวมถึงอัตราส่วนของวิดีโอในผลงานจะต้องเป็นขนาด 16:9 (1920 x 1080px) ในรูปแบบไฟล์ .MP4
  • คลิปสั้นที่ส่งเข้าประกวดต้องเป็นผลงานที่ถ่ายด้วยตนเองเท่านั้น และไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการละเมิดผลงานผู้อื่น รวมถึงผู้ถูกถ่ายคลิปจะต้องได้รับความยินยอมในการถูกถ่ายทำและยินยอมให้เผยแพร่ได้ หากพบว่ามีการร้องเรียนหรือพิสูจน์ได้ภายหลัง ว่าผลงานที่ส่งเข้าประกวดมิใช่ของผู้ส่งผลงาน ผู้จัดการประกวดขอสงวนสิทธิ์ในการเรียกรางวัลที่ได้รับไปแล้วกลับคืน หรือตัดสิทธิ์ รวมทั้งจะไม่รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นในทุกรณี
  • ผลงานคลิปสั้นที่ส่งเข้าประกวดต้องไม่เคยได้รับรางวัลจากการประกวดใด ๆ 
  • ผลงานคลิปสั้นที่ส่งเข้าประกวดต้องไม่มีข้อผูกมัดในเรื่องลิขสิทธิ์กับหน่วยงานต่าง ๆ รวมไปถึงต้องไม่ใช่คลิปที่ส่งขายตาม Stock Footage ทุกแห่ง
  • ผู้เข้าประกวดต้องเก็บผลงานต้นฉบับไว้ ในกรณีที่คณะกรรมการตัดสินมีข้อสงสัย สามารถเรียกให้ผู้เข้าร่วมประกวดแสดงคลิปต้นฉบับได้
  • หากปรากฏว่าผลงานคลิปของผู้เข้าประกวดไม่เป็นไปตามกติกาที่กำหนด คณะกรรมการมีอำนาจในการตัดสิทธิ์ผลงานนั้น โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
  • สภาลมหายใจเชียงใหม่ สามารถนำผลงานของผู้ที่ได้รับรางวัลไปใช้ในกิจกรรมของสภาลมหายใจเชียงใหม่ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และรณรงค์ โดยไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ให้แก่เจ้าของผลงาน และไม่จำเป็นต้องแจ้งให้เจ้าของผลงานทราบ
  • การตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุด
  • การประกวดครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการประกวดยินยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไขที่ได้แนบไว้ในสมัครแล้ว

ระยะเวลาดำเนินโครงการ

  1. ผู้เข้าประกวดส่งใบสมัครที่กรอกข้อมูลครบถ้วน พร้อมแนบเอกสารบัตรประจำตัวประชาชน และเอกสารบทเรื่องย่อ (Story outline) อย่างน้อย 1 ย่อหน้า ทาง E-mail Breathcouncil@gmail.com โดยตั้งหัวเรื่องว่า “สมัครแข่งขันประกวดคลิปสั้น” ภายในวันที่ 19 มีนาคม 2565
  2. คณะกรรมการคัดเลือกบุคคลหรือทีมที่ผ่านการคัดเลือก และประกาศผลการคัดเลือกในวันที่ 20 มีนาคม 2565
  3. ทีมงานจัดกิจกรรมอบรม (Workshop) ให้กับทีมที่เข้าร่วมการประกวด ผ่านช่องทางออนไลน์
    • หัวข้อ “แหล่งที่มาและสาเหตุของปัญหาฝุ่นควัน” ในวันที่ 25 มีนาคม 2565
    • หัวข้อ “เทคนิคเบื้องต้นของการสื่อสารด้วยสื่อวิดีทัศน์” ในวันที่ 29 มีนาคม 2565
  4. บุคคลหรือทีมดำเนินการผลิตผลงาน ในระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม – 15 พฤษภาคม 2565 โดยมีกำหนดการรายงานความคืบหน้าของผลงานในวันที่ 25 เมษายน 2565 ผ่านช่องทางออนไลน์
  5. บุคคลหรือทีมที่เข้าร่วมการประกวด ส่งผลงานที่สมบูรณ์ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2565
  6. ประกาศผลการตัดสินรูปแบบออนไลน์ ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
    • รางวัลชนะเลิศ 10,000 บาท
    • รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง 7,000 บาท
    • รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง 5,000 บาท
    • รางวัลชมเชย จำนวน 3 รางวัล รางวัลละ 3,000 บาท
    • รางวัล popular vote 3,000 บาท

>> ดาวน์โหลดแบบฟอร์มใบสมัครเข้าร่วมโครงการ <<

>> ดาวน์โหลดไฟล์รายละเอียดโครงการ <<

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม 061-2705000 พรรณธร (ผู้ประสานงานโครงการ)