สภาลมหายใจเชียงใหม่

โครงการชุมชนดินน้ำป่าอากาศยั่งยืน 34 ตำบลนำร่อง

โครงการชุมชนดินน้ำป่าอากาศยั่งยืน 2563 (แผนงานพื้นที่ป่า เกษตร) พื้นที่ 34 ตำบลนำร่อง เพื่อแก้ปัญหาระยะยาวลดการเผาไหม้ที่ไม่จำเป็น ขยายผล 101 ตำบลที่รับถ่ายโอนภารกิจดับไฟจากกรมป่าไม้ ขับเคลื่อนความร่วมมือกับท้องถิ่น ป้องกันและแก้ไขปัญหาป่าไม้ ที่ดิน ไฟป่า ฝุ่นควัน จังหวัดเชียงใหม่

หลักการและเหตุผล

            จังหวัดเชียงใหม่เผชิญปัญหามลพิษฝุ่นควันไฟเป็นประจำในฤดูแล้ง (กุมภาพันธ์-เมษายน) เป็นเวลานานกว่า 12 ปี นับจากที่ครม.นำปัญหานี้เข้าสู่การพิจารณาครั้งแรกเมื่อพ.ศ.2550 ได้มีความพยายามกำหนดมาตรการและวิธีการต่างๆ เพื่อจัดการปัญหามาโดยลำดับ แต่ปรากฏว่าปัญหานี้กลับทวีความรุนแรงขึ้นดังที่ปรากฏให้ทราบทั่วกันว่าจำนวนจุดการเผาที่มากขึ้นและจำนวนวันที่มลพิษฝุ่นควันเกินค่ามาตรฐานรุนแรงขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นในระหว่างที่เกิดปัญหา ยังพบว่าประชาชนจำนวนมากกลับยังไม่มีความรู้ถึงผลกระทบและความรุนแรงจากมลพิษดังกล่าว มีผู้ไม่สวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะจำนวนมาก ปรากฏมีการสื่อสารทางสังคม(โซเชียลมีเดีย) กล่าวถึงปัญหาในแง่มุมที่แตกต่างกันไป บ้างก็กล่าวโทษไปยังกลุ่มประชาชนที่ตนเชื่อว่าเป็นผู้ก่อเหตุ บ้างก็กล่าวโทษการทำงานของรัฐ เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชน ขณะเดียวกันก็มีประชาชนที่อยากจะช่วยเหลือการทำงานของรัฐ กลุ่มจิตอาสาต่างๆทำกิจกรรมที่ตนเชื่อว่าจะช่วยบรรเทาปัญหาได้ในวิธีการต่างๆ ตามแต่สายตามุมมองของตน มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้สอดประสานกัน รวมถึงระดับของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในแผนปฏิบัติการของรัฐก็ยังอยู่ในระดับต่ำ มาตรการแก้ปัญหาในหลายปีที่ผ่านมายังขาดการดึงพลังของประชาชนในภาคสังคมให้มาร่วมด้วยช่วยกัน อีกทั้งยังเน้นแก้ปัญหาด้วยการป้องการการเผา การพยายามห้ามเกิดไฟและประสิทธิภาพการดับไฟเป็นสำคัญ ยังให้น้ำหนักมองปัญหาในมิติทางสังคมเพียงส่วนน้อย

หลักคิดของโครงการพลังประชาสังคมเชียงใหม่ร่วมใจสู้ฝุ่น มุ่งสู่ ดิน น้ำ ป่า อากาศ เมืองยั่งยืน เห็นว่า ปัญหามลพิษฝุ่นควันไฟ เป็นปัญหาพฤติกรรมเชิงสังคม ความรู้ ความเข้าใจ ทัศนคติ ตลอดถึงข้อจำกัดและพฤติกรรมของประชาชนในชุมชนต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น การจะแก้ปัญหานี้จะต้องแก้ที่ภาคสังคม ด้วยการพยายามเรียนรู้ เข้าอกเข้าใจกัน ในระหว่างประชาชนกลุ่มต่างๆ ซึ่งต่างก็เป็นทั้งผู้มีส่วนก่อมลพิษไม่ทางใดก็ทางหนึ่งและต่างก็เป็นผู้รับผลกระทบจากมลพิษอากาศด้วยกัน ในภาคชนบท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกิดไฟในป่าและที่โล่งการเกษตร การผลิตบางชนิดต้องใช้ไฟและไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ควรจะได้รับการยกระดับการผลิตใหม่ที่ยั่งยืนกว่า ดีกว่า เป็นที่พึงพอใจมากกว่า ขณะที่ภาคเมือง ควรจะมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ที่กว้างขวางให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศแบบแอ่งกระทะในฤดูแล้ง เพื่อให้ตระหนักว่าเมืองก็เป็นต้นตอปัญหาเช่นกัน

101 ตำบลกับภาระกิจการถ่ายโอนการจัดการไฟป่าเป็นแนวทางสำคัญที่หลายฝ่าย หลายภาคส่วนเห็นว่า ท้องถิ่นเป็นกลไกที่ใกล้ชิดกับพื้นที่ชุมชน พื้นที่ป่า และเป็นองค์กรที่สามารถให้การสนับสนุนชุมชน ในการพัฒนาหรือดำเนินกิจกรรมใดๆที่เกิดประโยชน์ต่อชุมชนสภาพแวดล้อมโดยรวม ตามการกระจายอำนาจในการปกครองตนเอง ตามพ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  2542

            ในขณะที่พื้นที่ป่าไม้ในจังหวัดเชียงใหม่ได้กำหนดให้เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติจำนวน 6,835,306 ไร่ โดยจำแนกเป็นพื้นที่ที่ทำกินที่ใช้ประโยชน์ประมาณ 1,660,000 ไร่ และมีพื้นที่ถ่ายโอนภาระกิจการจัดการไฟป่าไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้วจำนวน 101 ตำบล รวมพื้นที่ 4,800,00 ไร่ (อยู่ในเขตเตรียมการประกาศเขตป่าอุทยานจำนวน 435,000  ไร่)  กรมป่าไม้จึงไม่มีพื้นที่ที่จะดำเนินการจัดทำแผนการป้องกัน และดับไฟป่าได้โดยตรงเนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ได้ถ่ายทอดภารกิจไปแล้ว ในพื้นที่ 101 ตำบลจังหวัดเชียงใหม่  

ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้หารือร่วมกับกระทรวงมหาดไทย  คณะกรรมการกระจายอำนาจ  หาแนวทางให้การถ่ายโอนภารกิจมีผลบังคับใช้ และเกิดผลในการปฏิบัติการในการจัดการไฟป่า การจัดการเชื้อเพลิงแต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามช่วงเวลาและการดำเนินการบริหารจัดการไฟป่าอย่างเป็นระบบที่ชัดเจนมากนักเนื่องจาก การแก้ไขปัญหาฝุ่นควันที่ผ่านมา  กรมป่าไม้มีพื้นที่ดูแล 2 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 20 อีกร้อยละ 80 ไม่มีแผนงานที่ชัดเจน พบว่า 4.8 ล้านไร่ ในพื้นที่ 101 ตำบลที่ได้รับการถ่ายโอนภารกิจกับกรมป่าไม้ไม่สามารถทำแผนหรือดำเนินการได้ ไม่มีงบที่จะดำเนินการและมองว่าไม่ใช่หน้าที่ที่จะดำเนินการ  ติดเงื่อนไขการตรวจสอบงบประมาณ รวมทั้งแผนงานว่าด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่อยากจะให้แผนงาน โครงการได้รับการอนุญาตให้เข้าไปดำเนินการได้ รวมทั้งภารกิจเรื่องการดูแลป่า โดยเฉพาะป่าชุมชนที่ชุมชนดูแล จัดการและใช้ประโยชน์ชอบด้วยระเบียบกฎหมาย 541 หมู่บ้าน 7.9 แสนไร่ เมื่อจัดตั้งชอบด้วยกฎหมายหากหน่วยงานสนับสนุน งบประมาณแผนงานสามารถดำเนินการได้ แต่งบไม่สามารถไปถึงชาวบ้านได้  หากทำแผนป่าชุมชนและดำเนินการไปพร้อมๆกัน สามารถดำเนินการได้ทันที เพราะกฎหมายมีผลบังคับใช้ ตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชนทั้งการจัดการไฟป่าและการจัดการป่า

ที่สำคัญการพัฒนาคุณภาพชีวิต การจัดระเบียบที่ดินทำกิน เป็นข้อจำกัดโดยรวม จังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่แก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยอยู่สองส่วน คือ เขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ รวมพื้นที่  4 แสนไร่ สำรวจแล้วเสร็จ 21 กรกฎาคม 2563 เพื่อให้ชอบด้วยกฎหมาย และเขตพื้นที่ ที่ดินทำกินที่อยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ 1.66 ล้านไร่ ที่จะเข้าสู่รองรับสิทธิตามนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.)  แต่กระบวนการ งบประมาณไปได้ช้า ปีหนึ่งสามหมื่นกว่าไร่  เป้าหมาย 1.66 ล้านไร่ จึงเกิดปัญหาต่างๆทั้งโครงสร้างพื้นฐานและอื่นๆ

จากประเด็นปัญหาดังกล่าวข้างต้น จึงนำมาสู่การหาแนวทางร่วมกันของหน่วยงานหลายภาคส่วนที่จะบูรณาการขับเคลื่อนความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาป่าไม้  ที่ดิน  ไฟป่า  ฝุ่นควัน จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนำไปสู่การดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาวอย่างยั่งยืนและบรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ จึงแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันแก้ไขปัญหาฝุ่นควันจังหวัดเชียงใหม่แบบบูรณาการและมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนขึ้นมา 8 ชุดคณะที่จะอำนวยการให้เกิดนโยบาย แผนงาน และการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันแบบบูรณาการจากทุกภาคส่วน รวมทั้งติดตามการดำเนินการที่จะทำให้แนวทางการแก้ไขปัญหาบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดแนวทางการขับเคลื่อนบรรลุเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาระยะยาว ชุดคณะทำงานด้านป่าไม้ และที่ดินในพื้นที่ป่าจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้จัดทำโครงการและแผนงานสนับสนุนท้องถิ่น 101 อปท. ในการจัดทำแผนการจัดการป่า ไฟป่า การพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครจัดทำฐานข้อมูลเพื่อวางแผนการจัดการเชื้อเพลิงและการจัดการป่าโดยเฉพาะในพื้นที่ป่าชุมชนที่นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต และการเชื่อมแผนกับท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะนำแผนไปปฏิบัติการในระดับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม

            การพัฒนาความร่วมมือและพลังของภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งเมืองและชนบทที่ต้องการจะมีส่วนร่วมก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แก้ปัญหาร่วมกันเป็นพลังทางบวกของประชาสังคม ที่จะช่วยเกื้อหนุนการดำเนินการของภาครัฐ ให้ปัญหามลพิษอากาศฝุ่นควันไฟบรรเทาเบาลงและได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืนในลำดับถัดไป

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ปัญหาฝุ่นควันมลพิษจากการเกิดไฟและฝุ่นควันในพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ป่าโดยบูรณาการร่วมกันกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรชุมชน องค์กรภาครัฐ
  2. เพื่อให้ท้องถิ่น 101 ตำบลได้จัดทำแผนการบริหารจัดการที่ดิน ป่าไม้ ไฟป่า ฝุ่นควันได้อย่างมีประสิทธิภาพตามภารกิจถ่ายโอน

เป้าหมาย

มีการวางแผนบูรณาการและดำเนินการแก้ปัญหาลดฝุ่นควันระยะยาวเพื่อลดการเผาในครัวเรือน ลดการเผาในพื้นที่เกษตร และมีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า

กลุ่มเป้าหมาย

  1. ท้องถิ่น/ผู้บริหาร/ผู้นำชุมชน/คณะกรรมการ/ชุมชน   101 ตำบล
  2. อาสาสมัครจัดจ้างโควิด  101 ตำบล  รวม  202  คน
  3. ชุมชนในพื้นที่นำร่อง/พื้นที่รูปธรรมกรณีการจัดการไฟ การจัดการป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีลานนา  
  • อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ และอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ – ปุย  /พื้นที่นำร่อง การจัดการไฟ
  • ในพื้นที่เกษตร  อำเภอแม่แจ่ม แม่แจ่มโมเดล/ กรณีการจัดการไฟในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ  ในพื้นที่
  • อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

หน่วยงานดำเนินการ     101  ตำบล  แยกตามหน่วยงานรับผิดชอบ

  1. ขบวนสภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดเชียงใหม่         
  2. มูลนิธิภูมิปัญญาชาติพันธุ์ -ข่ายชาติพันธ์                
  3. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน -SDF                         
  4. เครือข่ายอาสาสมัครทรัพยากร-เตาไบโอชาร์             
  5. เครือข่ายปุ๋ยหมักรักษ์โลก                                     

ระยะเวลาดำเนินการ               

  • 3  ปี  ระยะแรก 1 ปี  เริ่ม  มีนาคม 2563-กุมภาพันธ์2564

การดำเนินงาน  3 โครงการ

  1. โครงการ   ส่งเสริมการใช้เตาไบโอชาร์ในระดับครัวเรือน เพื่อลดการเผาเศษใบไม้ กิ่งไม้ ขยะ 

สนับสนุนเตาไบโอชาร์ ขนาด 20 ลิตร จำนวน 122 เตา/ครัวเรือน  เพื่อเป็นต้นแบบในพื้นที่ตำบลขุนคง อ.หางดง โดยสร้างความร่วมมือกับเทศบาลตำบล ให้มีการส่งเสริมให้ครัวเรือนใช้เตาไบโอชาร์ในครัวเรือนเพื่อลดปริมาณขยะใบไม้ กิ่งไม้ และขยะเผาไหม้ได้บางส่วน โดยการให้ความรู้กับทีมของเทศบาลให้ขยายความรู้สู่ครัวเรือน  มอบเตาให้ 122 ครัวเรือนที่สมัครเข้าร่วมโครงการ สาธิตการใช้เตาโดยทีมอาจารย์มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมีทีมติตามหนุนเสริมประเมินผลการใช้เตาในครัวเรือน

  • โครงการ ปุ๋ยหมักรักษ์โลก

ในฤดูเก็บเกี่ยวของเกษตรกรและฤดูใบไม้ร่วงทำให้มีเศษพืชที่เป็นเชื้อเพลิงมากมาย การเผาเศษพืชและใบไม้ในชุมชนทำให้เกิดฝุ่นควันและสร้างผลกระทบต่อเด็กเล็กและผู้สูงอายุในชุมชน การแปรสภาพเศษพืชให้เป็นปุ๋ยหมักคุณภาพสูง เป็นการส่งเสริมให้เกิดการแยกเศษพืชใบไม้ออกจากขยะทั่วไปทำให้ชุมชนมีขยะน้อยลง เป็นการส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการลดเผา เป็นการดูแลสุขภาพเด็กเล็กและผู้สูงอายุในชุมชน และเป็นการสร้างอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

กิจกรรม

2.1   โครงการสนับสนุนแหล่งผลิตปุ๋ยจำนวน 11 แห่ง ที่จะพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องปุ๋ยได้ด้วย ประกอบด้วย

แหล่งเรียนรู้ 11 แห่ง

  1. คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เริ่มจากงานวิจัยการทำปุ๋ยหมักสูตรเติมอากาศและพัฒนาเป็นฐานเรียนรู้การทำปุ๋ยหมักไม่พลิกกลับกองแม่โจ้ 1 ให้นักศึกษาปฏิบัติการและให้หน่วยงานและผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้
  2.  กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลห้วยทราย เป็น 1 ใน 7 ฐานเรียนรู้การทำปุ๋ยหมักไม่พลิกกลับกองของมหาวิทยาลัยแม่โจ้  ทำงานเชื่อมโยงกับกลุ่มเกษตรอินทรีย์และจะเป็นหน่วยจัดการจัดจำหน่ายผลผลิตจากเครือข่ายผลิตปุ๋ยสภาลมหายใจ
  3. โรงเรียนปริยัติธรรมผดุงศาสน์ดอยสะเก็ด ตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด พระอาจารย์ อินสอน ได้บรรจุวิชาการทำปุ๋ยหมักไม่พลิกกลับกองแม่โจ้ 1 ไว้ในหลักสูตรการสอนวิชาทักษะชีวิตแก่สามเณรร้อยห้าสิบรูปจากวัดต่างๆ ในอำเภอดอยสะเก็ดและใกล้เคียง เพื่อให้ สามเณรนำความรู้ไปช่วยครอบครัวเมือลาสิกขา
  4. กลุ่มปุ๋ยหมักบ้านแม่ขนิลใต้ ตำบลน้ำแพร่ อ.หางดง หมู่บ้านในหุบเขาที่มีการทำเกษตรอินทรีย์และทำปุ๋ยหมักสูตรไม่พลิกกลับกองต่อเนื่องจนเป็นศูนย์เรียนรู้การทำปุ๋ยหมักในโครงการตำบลสุขภาวะของเทศบาลตำบลน้ำแพร่พัฒนา
  5.  ชุมชนแพะป่าห้า อยู่ในเขตเทศบาลเมืองแม่โจ้ เริ่มจากการคัดแยกขยะและได้นำวิธีทำปุ๋ยหมักไม่พลิกกลับกองมาจัดการใบไม้เศษพืชและขยะเปียกให้เป็นปุ๋ยหมักแล้วนำไปปลูกผักปลอดสารในทุกครัวเรือนจนได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว เป็นแหล่งดูงานของผู้สนใจ
  6. สวนดอยแก้ว ต.แม่งอน อ.ฝาง สวนส้มที่นำวิธีทำปุ๋ยหมักไม่พลิกกลับกอง ไปใช้ ผลิตปุ๋ยปีละร้อยตันจากซังข้าวโพดและเปลือกส้มเพื่อใช้ในสวนส้มสายน้ำผึ้งแก้ปัญหาเชื้อราในดินและต้นส้ม จนพัฒนาเป็นสวนส้ม-ผลไม้และพืชผักอินทรีย์  เป็นตัวอย่างให้เกษตรกรให้หันมาปลูกพืชด้วยระบบอินทรีย์มากขึ้น
  7. สิริเมืองพร้าว หมู่บ้านท่ามะเกี๋ยง ตำบลสันทราย อ.พร้าว เป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ทำงานกับโรงเรียนขนาดเล็กในชุมชนและกลไกในหมู่บ้านด้านสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการคัดแยกขยะ ส่งเสริมการอ่าน  และสนใจการนำใบไม้มาทำปุ๋ยหมักไม่พลิกกลับกอง และมีแผนการจัดจำหน่ายปุ๋ยหมักในชุมชน
  8. สวนโกโก้อินทรีย์ KM. Garden  แม่แตง เริ่มจากการใช้ปุ๋ยหมักใส่ต้นโกโก้แล้วประทับใจในคุณภาพ จึงเริมทำปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกองใช้เองและขยายผลในกลุ่มสมาชิกกลุ่มเกษตรอินทรีย์มาตรฐานพีจีเอส(มาตฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม)จังหวัดเชียงใหม่
  9. โครงการหลวงทุ่งเริง  ตำบลบ้านปง อำเภอหางดง เชียงใหม่ คุณพูลผล เล็กไม่น้อย ผู้อำนวยการโครงการหลวงทุ่งเริงเคยทำงานที่โครงการหลวงห้วยต้มซึ่งเป็นโครงการหลวงที่ส่งเสริมให้ชุมชนนำเศษพืชมาทำปุ๋ยหมักเพื่อใช้ปลูกผักในโครงการ  ทำให้มีผักอินทรีย์ในโครงการหลวงแห่งนี้
  10. ศูนย์เรียนรู้ลำใยปลอดภัยGAP แปลงใหญ่ ตำบลท่ากว้าง อำเภอสารภี นอกจากลำใยอันเป็นพืชเศรษฐกิจของอำเภอสารภี แล้วศูนย์ศูนย์เรียนรู้ลำใยปลอดภัยตำบลท่ากว้างได้ส่งเสริมให้สมาชิกกลุ่มนำใบลำใยมาทำปุ๋ยหมักด้วยวิธีการทำปุ๋ยหมักไม่พลิกกลับกลอง เพื่อใช้บำรุงต้นและเพิ่มผลผลิต
  11. สมาคมยางนาขี้เหล็กสยาม หน่วยดูแลต้นยางนาบนถนนเชียงใหม่ลำพูนในเขตอำเภอสารภีทั้งการปลูกยางนาการดูแลรากและการตัดแต่งกิ่ง ทำให้มีกิ่งและใบยางนาจำนวนมากที่ต้องขนไปทิ้งตามสถานที่ต่าง  จึงเห็นสมควรนำใบไม้มาทำปุ๋ยหมัก เพื่อในบำรุงรากยางนาและพัฒนาเป็นอาชีพเสริมแก่ชุมชนต่อไป

2.2   พัฒนาสินค้าดินเข้มข้น สภาลมหายใจเชียงใหม่ เพื่อเป็นสินค้าปลอดการเผา  การดำเนินการพัฒนาผลผลิต การบรรจุภัณฑ์ การสร้างจุดจำหน่วยสินค้า การสื่อสารประชาสัมพันธ์จัดจำหน่ายสินค้า กระจายสินค้า  โดยแหล่งเรียนรู้ทั้ง 11 แห่งจะสามารถสนับสนุนผลผลิตให้มีความต่อเนื่องได้ จัดจำหน่ายปุ๋ยหมักและดินเพาะปลูกโดยวางตามฐานเรียนรู้ 10 แห่งร้านค้าที่สนใจ และการขายออนไลน์ (30 สค. 63)

2.3   จัดทำกล่องการเพาะปลูกพร้อมเมล็ดพันธุ์อินทรีย์ ที่มีข้อมูลสภาลมหายใจ วิธีการทำปุ๋ย และวิธีป้องกันตนเองจาก PM 2.5  (สค 63)นำกล่องเพาะปลูก ไปจัดกิจกรรมส่งแสริมการปลูกใน กลุ่มนักเรียน 10 โรงเรียนเทศบาล และจำหน่ายแก่ผู้สนใจ

2.4   รณรงค์ให้มีการนำใบไม้มาทำปุ๋ยหมัก และให้มีพื้นที่จัดเก็บใบไม้ในแต่ละเทศบาล อย่างน้อยอำเภอละ 1 เทศบาล/อบต.

3.  โครงการขับเคลื่อนความร่วมมือกับท้องถิ่น 101 ตำบล ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาป่าไม้ ที่ดิน ไฟป่า ฝุ่นควัน จังหวัดเชียงใหม่

แนวทางการดำเนินงาน

  1. จัดประชุมคณะทำงานด้านป่าไม้ และที่ดินในพื้นที่ป่าจังหวัดเชียงใหม่หารือแนวทางการขับเคลื่อน ภาระกิจการถ่ายโอนให้เกิดแนวทางการปฏิบัติการที่เป็นจริงได้
  2.  ออกแบบเนื้อหารูปแบบกิจกรรมที่จะให้บรรลุวัตถุประสงค์  เป้าหมายในระยะเวลา  3 เดือน
  3. วางแผนการลงพื้นที่ปฏิบัติการ จัดกิจกรรมตามแผนงาน
  4. จัดตั้งคณะกรรมการจัดการปัญหาฝุ่นควันตำบล องค์ประกอบ 1) ท้องถิ่น  2) ท้องที่  3) สภาองค์กรชุมชนตำบล 4) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่  เช่น  รพ.สต. โรงเรียน วัด หน่วยธุรกิจ หน่วยดับไฟป่า สำนักงานอุทยาน สำนักงานป่าไม้ ฯลฯ
  5. จัดทำแผนจัดการฝุ่นควันตำบลหลายระดับ ทั้งที่สามารถบรรจุเป็นแผนของ อปท. แผนที่จัดการโดยชุมชนเอง  แผนที่ต้องการหนุนเสริมจากภาควิชาการ หน่วยงานอื่นในระดับจังหวัด  การจัดทำระบบฐานข้อมูล องค์ความรู้  ด้านการจัดการพื้นที่ป่า  การจัดการไฟป่าระดับชุมชน ระดับจังหวัด  การรวบรวมและจัดทำคู่มือองค์ความรู้ในการปลูกต้นไม้ในบ้าน ชุมชน ที่สาธารณะ และในป่า คู่มือองค์ความรู้ในการทำ save zone จากฝุ่นควัน  และคู่มือในการดูแลสุขภาพตนเองให้ปลอดภัยจากพิษฝุ่นควัน
  6. มิติด้านเศรษฐกิจ การจัดการลดการเผา การวิเคราะห์สาเหตุไฟที่เกิดขึ้น ความต้องการสนับสนุนเพื่อปรับเปลี่ยนวิถีการผลิต การลดการเผาในพื้นที่ป่า การมีอาชีพที่มีรายได้เพียงพอ การเข้าถึงแหล่งทุน
  7.  มิติด้านสิ่งแวดล้อม การทำแผนที่ ทำแนวเขต แบ่งขอบเขตการดูแลใช้พื้นที่ของชุมชน ของหน่วยงาน ของหน่วยงาน  การบริหารจัดการเชื้อเพลิง  การทำแนวกันไฟ  การดับไฟ  การจัดตั้งกองทุน
  8. มิติด้านสุขภาพ การสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องมลพิษฝุ่นควัน การเตรียมตัวป้องกันมลพิษ การสร้างพื้นที่ปลอดภัยโดยเฉพาะในบ้าน ในศูนย์เด็กเล็ก
  9. มิติด้านสังคม  มาตรการสร้างความตระหนักปรับเปลี่ยนพฤติกรรม  มาตรการจัดการทางสังคมคนเข้าป่าหาของป่าตระหนักและลดการจุดไฟเผา
  10.  คณะทำงานติดตามการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องโดยติดตามจากรายงานผลการดำเนินงาน คณะทำงานชุดปฏิบัติการที่ลงไปสนับสนุนการทำงานในระดับพื้นที่ และการติดตามจากการเข้าร่วมประชุมกับคณะทำงานบูรณาการขับเคลื่อนความร่วมมือ
  11. สรุปผลการดำเนินงาน และวางแผนต่อเนื่องจากงานข้อมูลไปสู่การจัดทำแผนการจัดการป่าไม้ ที่ดิน ไฟป่า ฝุ่นควันในระยะยาวต่อไป

ผลลัพธ์

  1. มีพื้นที่ต้นแบบลดการเผา ลดฝุ่นควัน แบบบูรณาการ อย่างน้อย  10 ตำบล
  2. มีแผนบริหารจัดการที่ดิน ป่าไม้ ไฟป่า ฝุ่นควัน ระดับตำบล อย่างน้อย 50 ตำบล
  3. มีรูปแบบการบริหารจัดการเชื้อเพลิง อย่างน้อย  2  แบบ  คือในพื้นที่ป่าชุมชน  และพื้นที่ป่าอนุรักษ์
  4. สินค้าปุ๋ยอินทรีย์ ตราสภาลมหายใจ
  5. ชุดข้อเสนอการจัดการไฟป่า ลดฝุ่นควัน โดยชุมชน

ผู้ประสานงานโครงการ

        ปริศนา พรหมมา   โทร. 089-631-1181

คณะทำงาน

  1. นายเดโช ไชยทัพ              มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคเหนือ       
  2. ธนกร   ช่วยค้ำชู             ประธานขบวนสภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดเชียงใหม่  
  3. อุดม      อินจันทร์             สภาองค์กรชุมชนตำบลเชียงใหม่
  4. ไวยิ่ง  ทองบือ                  มูลนิธิภูมิปัญญาชาติพันธุ์
  5. ปริศนา  พรหมมา            มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ
  6. บุญตา  สืบประดิษฐ์         มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคเหนือ
  7. บุษยา  คุณากรสวัสดิ์        กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ
  8. พิมพ์สุชา สมมิตรวศุตม์     กลุ่มเตาไบโอชาร์
  9. อัมพร  บุญตัน                 กลุ่มปุ๋ยหมักรักษ์โลก
  10. สุรีรัตน์ ตรีมรรคา              กองเลขานุการสมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงใหม่

บทความอื่นๆ

อ่านบทความอื่นที่เกี่ยวข้อง

ดุลพินิจ : นโยบาย และอำนาจตัดสิน

มีคนส่งเพจ “คุยกับอธิบดีกรมป่าไม้” มาให้ดู ท่านเอาภาพมุมสูงถ่ายจากเครื่องบินแสดงให้เห็นการทำลายเผาป่าอมก๋อย บางแปลงชัดเจนมาก เผาขยายที่ ไฟ …

ทรัพยากรธรรมชาติของชาติของประชาชน 1

“ป่าเป็นทรัพยากรธรรมชาติของชาติของประชาชนใช่มั๊ย?” เจ้าหน้าที่ที่ดูแลป่าใช้เงินภาษีของประชาชนใช่มั๊ย?” ป่าของทุกคนถูกไหม้ป่าถูกทำลาย ทุกคนก็อยากช่วยดู …

ทรัพยากรธรรมชาติของชาติของประชาชน 3

“ป่าเป็นทรัพยากรธรรมชาติของชาติของประชาชนใช่มั๊ย?” เจ้าหน้าที่ที่ดูแลป่าใช้เงินภาษีของประชาชนใช่มั๊ย?” ป่าของทุกคนถูกไหม้ป่าถูกทำลาย ทุกคนก็อยากช่วยดู …

โครงการเขียวสู้ฝุ่น / Green City

โครงการเขียวสู้ฝุ่น/Green City เป้าหมาย เชื่อมร้อยและผลักดันการฟื้นฟูระบบนิเวศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ / พัฒนาแนวทางการจัดการเมืองสีเขียว เพื่อลดฝุ่นควั …