สภาลมหายใจเชียงใหม่

โครงการปุ๋ยหมักรักษ์โลกแผนชุมชนดินน้ำป่าอากาศยั่งยืน

แนวคิด แผนงานและข้อมูลเครือข่าย

ในช่วงย่างเข้าสู่ฤดูหนาวเดือนตุลาคม เป็นช่วงการเก็บเกี่ยวและฤดูใบไม้ร่วงทำให้มีเศษพืชที่เป็นเชื้อเพลิงมากมาย การเผาเศษพืชและใบไม้ในชุมชนทำให้เกิดหมอกควันและสร้างผลกระทบต่อเด็กเล็กและผู้สูงอายุในชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่อยู่ติดบ้านและไม่ค่อยมีปากเสียงในชุมชน การทำแปรสภาพเศษพืชให้เป็นปุ๋ยหมักคุณภาพสูง เป็นการส่งเสริมให้เกิดการแยกเศษพืชใบไม้ออกจากขยะทั่วไปทำให้ชุมชนมีขยะน้อยลง เป็นการส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการลดเผา เป็นการดูแลสุขภาพเด็กเล็กและผู้สูงอายุในชุมชน และเป็นการสร้างอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

งานปุ๋ยหมักเลือกวิธีการทำปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกองสูตรวิศกรรมแม่โจ้ 1 เพราะเป็นวิธีลดการเผาใบไม้จำนวนมาก ไม่ต้องเสียเวลาพลิกกลับกอง ได้ปุ๋ยมาตรฐานปุ๋ยหมักประเทศไทย ไม่สร้างก๊าซมีเทน การผลิตปุ๋ย 1 ตัน ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก 400 กิโล และ PM2.5 3 3 กิโลกรัม  การผลิตปุ๋ยหมักเป็นกิจกรรมที่สมประโยชน์ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมสุขภาพและเศรษฐกิจชุมชนโดยเลือก 10 พื้นที่ ที่มีประสบการณ์การทำและการใช้ปุ๋ยหมักที่หลากหลาย เพื่อให้เป็นจุดจัดการใบไม้ หน่วยการผลิตและแหล่งเรียนรู้ เผยแพร่การทำปุ๋ยหมักแก่ผู้สนใจต่อไป โดยเพิ่มพื้นที่อำเภอสารภีเป็นพื้นที่ความร่วมมือที่ระดับอำเภอ

แหล่งเรียนรู้ 11 แห่ง

  1. คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เริ่มจากงานวิจัยการทำปุ๋ยหมักสูตรเติมอากาศและพัฒนาป็นฐานฐานเรียนรู้การทำปุ๋ยหมักไม่พลิกกลับกองแม่โจ้ 1 ให้นักศึกษาปฏิบัติการและให้หน่วยงานและผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้
  2. กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลห้วยทราย เป็น 1 ใน 7 ฐานเรียนรู้การทำปุ๋ยหมักไม่พลิกกลับกองของมหาวิทยาลัยแม่โจ้  ทำงานเชื่อมโยงกับกลุ่มเกษตรอินทรีย์และจะเป็นหน่วยจัดการจัดจำหน่ายผลผลิตจากเครือข่ายผลิตปุ๋ยสภาลมหายใจ
  3.  โรงเรียนปริยัติธรรมผดุงศาสน์ดอยสะเก็ด ตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด พระอาจารย์ อินสอน ได้บรรจุวิชาการทำปุ๋ยหมักไม่พลิกกลับกองแม่โจ้ 1 ไว้ในหลักสูตรการสอนวิชาทักษะชีวิตแก่สามเณรร้อยห้าสิบรูปจากวัดต่างๆ ในอำเภอดอยสะเก็ดและใกล้เคียง เพื่อให้ สามเณรนำความรู้ไปช่วยครอบครัวเมื่อลาสิกขา
  4. กลุ่มปุ๋ยหมักบ้านแม่ขนิลใต้ ตำบลน้ำแพร่ อ.หางดง หมู่บ้านในหุบเขาที่มีการทำเกษตรอินทรีย์และทำปุ๋ยหมักสูตรไม่พลิกกลับกองต่อเนื่องจนเป็นศูนย์เรียนรู้การทำปุ๋ยหมักในโครงการตำบลสุขภาวะของเทศบาลตำบลน้ำแพร่พัฒนา
  5. ชุมชนแพะป่าห้า อยู่ในเขตเทศบาลเมืองแม่โจ้ เริ่มจากการคัดแยกขยะและได้นำวิธีทำปุ๋ยหมักไม่พลิกกลับกองมาจัดการใบไม้เศษพืชและขยะเปียกให้เป็นปุ๋ยหมักแล้วนำไปปลูกผักปลอดสารในทุกครัวเรือนจนได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว เป็นแหล่งดูงานของผู้สนใจ
  6. สวนดอยแก้ว ตำบลแม่งอน อ.ฝาง สวนส้มที่นำวิธีทำปุ๋ยหมักไม่พลิกกลับกอง ไปใช้ ผลิตปุ๋ยปีละร้อยตันจากซังข้าวโพดและเปลือกส้มเพื่อใช้ในสวนส้มสายน้ำผึ้งแก้ปัญหาเชื้อราในดินและต้นส้ม จนพัฒนาเป็นสวนส้ม-ผลไม้และพืชผักอินทรีย์  เป็นตัวอย่างให้เกษตรกรให้หันมาปลูกพืชด้วยระบบอินทรีย์มากขึ้น
  7. สิริเมืองพร้าว หมู่บ้านท่ามะเกี๋ยง ตำบลสันทราย อ.พร้าว เป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ทำงานกับโรงเรียนขนาดเล็กในชุมชนและกลไกในหมู่บ้านด้านสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการคัดแยกขยะ ส่งเสริมการอ่าน  และสนใจการนำใบไม้มาทำปุ๋ยหมักไม่พลิกกลับกอง และมีแผนการจัดจำหน่ายปุ๋ยหมักในชุมชน
  8. สวนโกโก้อินทรีย์ KM. Garden  แม่แตง เริ่มจากการใช้ปุ๋ยหมักใส่ต้นโกโก้แล้วประทับใจในคุณภาพ จึงเริมทำปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกองใช้เองและขยายผลในกลุ่มสมาชิกกลุ่มเกษตรอินทรีย์มาตรฐานพีจีเอส(มาตฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม)จังหวัดเชียงใหม่   
  9. โครงการหลวงทุ่งเริง  ตำบลบ้านปง อำเภอหางดง เชียงใหม่ คุณพูลผล เล็กไม่น้อย ผู้อำนวยการโครงการหลวงทุ่งเริงเคยทำงานที่โครงการหลวงห้วยต้มซึ่งเป็นโครงการหลวงที่ส่งเสริมให้ชุมชนนำเศษพืชมาทำปุ๋ยหมักเพื่อใช้ปลูกผักในโครงการ  ทำให้มีผักอินทรีย์ในโครงการหลวงแห่งนี้
  10. ศูนย์เรียนรู้ลำใยปลอดภัยGAP แปลงใหญ่ ตำบลท่ากว้าง อำเภอสารภี นอกจากลำใยอันเป็นพืชเศรษฐกิจของอำเภอสารภี แล้วศูนย์ศูนย์เรียนรู้ลำใยปลอดภัยตำบลท่ากว้างได้ส่งเสริมให้สมาชิกกลุ่มนำใบลำใยมาทำปุ๋ยหมักด้วยวิธีการทำปุ๋ยหมักไม่พลิกกลับกลอง เพื่อใช้บำรุงต้นและเพิ่มผลผลิต
  11. สมาคมยางนาขึ้เหล็กสยาม หน่วยดูแลต้นยางนาบนถนนเชียงใหม่ลำพูนในเขตอำเภอสารภีทั้งการปลูกยางนาการดูแลรากและการตัดแต่งกิ่ง ทำให้มีกิ่งและใบยางนาจำนวนมากที่ต้องขนไปทิ้งตามสถานที่ต่าง  จึงเห็นสมควรนำใบไม้มาทำปุ๋ยหมัก เพื่อในบำรุงรากยางนาและพัฒนาเป็นอาชีพเสริมแก่ชุมชนต่อไป (ตั้งกองปุ๋ยที่  บ้านป่าแดด ต.ยางเนิ้ง   บ้านปากกอง ต.สารภี  บ้านท่ากว้าง  ต.ท่ากว้าง อ.สารภี)

กิจกรรม ที่ได้ดำเนินการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562- กรกฎาคม 2563

  1. ประสานงานเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ 10 พื้นที่
  2. พัฒนากลไกความร่วมมือ 3 ระดับ
    – ระดับหมู่บ้าน  พื้นที่ ดอยซิว และแม่ขนิลใต้   
    – ระดับตำบล-เทศบาล พื้นที่ โรงเรียนปริยัติธรรมตำบลเชิงดอย อ.ดอยสะเก็ด
    – ระดับอำเภอ พื้นที่อำเภอสารภี   ร่วมกับสภายางนาขี้เหล็กสยามและ เขียวสวยหอม
  3. ประชุมเตรียมงาน เตรียมพื้นที่จัดงานเปิดตัวโครงการ (โรงเรียนผดุงศาสน์ดอยสะเก็ด ต.เชิงดอย) 5 ครั้ง
  4. จัดงานคิกออฟ บันทึกข้อตกลงทำงานร่วมกับเทศบาล และองค์กรภาคี ณ โรงเรียนผดุงศาสน์ดอยสะเก็ด ตำบลเชิงดอย
  5. สนับสนุนเงินซื้อขี้วัวทำปุ๋ยหมัก ให้ 8 พื้นที่  (ยกเว้น มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สิริเมืองพร้าว โครงการหลวงทุ่งเริง)
  6. พื้นที่ลงมือทำปุ๋ยหมัก  รวม 176  ตัน
  7. ซื้อปุ๋ยจากชุมชนเพื่อบรรจุถุงจัดจำหน่าย  (แม่ขนิลใต้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนตำบลห้วยทราย)
  8. ประสานยืมเครื่องบดปุ๋ยและกิ่งไม้ ขนาดใหญ่ จากเทศบาลตำบลปิงโค้ง มาที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลห้วยทรายสันกำแพง
  9. ออกแบบตราสัญลักษณ์และสั่งพิมพ์ถุงใส่ปุ๋ยหมักและดินเพาะปลูก สี่แบบ  2 ขนาด( 1 กก และ 5 กก )
  10. ประสานงานหน่วยงานในพื้นที่เกี่ยวข้องที่สนใจทำปุ๋ยหมักเพื่อเป็นแนวร่วมในการทำปุ๋ยปีต่อไป
    – เทศบาลตำบลสันผักหวาน  อ.หางดง หมู่บ้านท้าวผายู หมู่บ้านขวัญเวียง สนใจร่วมเป็นเครือข่ายทำปุ๋ยหมัก
    – เทศบาลตำบลชุมภู อำเภอสารภี  มีพื้นที่สวนเกษตรอินทรีย์พื้นที่ 9 ไร่ พร้อมร่วมทำปุ๋ยหมัก
    – เทศบาลตำบลท่าศาลา สนใจร่วมทำปุ๋ยหมัก
    – เทศบาลนครเชียงใหม่ สนในขยายวิธีการทำปุ๋ยวงตาข่าย ในโรงเรียนเทศบาล 11 โรง
  11. เป็นวิทยาการ อบรมเสริมความรู้  โรงเรียนเทศบาลนครเชียงใหม่  โรงเรียนเด็กกำพร้า ยุหว่า สันป่าตอง
  12. บริจาคปุ๋ย 300 กก.ร่วมโครงการ “สวนผักคนเมือง” ที่ใช้บริเวณกองขยะร้างติดสุสานช้างคลาน กลางเมืองเชียงใหม่ทำเป็นสวนผักโดยให้โอกาสชุมชนมาปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิต และจ้างงานผู้ได้รับผลกระทบตกงานจากวิกฤติโควิด-19

ผลการผลิตปุ๋ยในพื้นที่ รวม 174 ตัน

  • สวนโกโก้  KM garden แม่แตง 1 กอง 1  ตัน
  • บ้านแม่ขนิลใต้ หางดง 1 กอง 1 ตัน
  • โรงเรียนผดุงศาสน์ดอยสะเก็ด ดอยสะเก็ด             4 กอง 4 ตัน
  • สมาคมยางนา  สารภี                      4 กองใหญ่ 120 ตัน
  • บ้านแพะป่าห้า สันทราย                2 กอง 2  ตัน
  • สวนดอยแก้ว ฝาง                         2  กอง 40 ตัน
  • ศูนย์เรียนรู้ลำไยแปลงใหญ่ สารภี 5 กอง 5 ตัน
  • กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลห้วยทราย  สันกำแพง              1  กอง                    1 ตัน

แผนการทำงานต่อไป

  1. จัดจำหน่ายปุ๋ยหมักและดินเพาะปลูกโดยวางตามฐานเรียนรู้ 10 แห่งร้านค้าที่สนใจ และการขายออนไลน์ (30 สค. 63)
  2. จัดทำกล่องการเพาะปลูกพร้อมเมล็ดพันธุ์อินทรีย์ ที่มีข้อมูลสภาลมหายใจ วิธีการทำปุ๋ย และวิธีป้องกันตนเองจาก PM PM 2.5  (สค 63)
  3. นำกล่องเพาะปลูก ไปจัดกิจกรรมส่งแสริมการปลูกใน กลุ่มนักเรียน 10 โรงเรียนเทศบาล และจำหน่ายแก่ผู้สนใจ
  4. รณรงค์ให้มีการนำใบไม้มาทำปุ๋ยหมัก และให้มีพื้นที่จัดเก็บใบไม้ในแต่ละเทศบาล

ผู้ประสานงานโครงการ     

อัมพร บุญตัน (ต้อม)   โทร. 0815956782 

บทความอื่นๆ

อ่านบทความอื่นที่เกี่ยวข้อง

ดุลพินิจ : นโยบาย และอำนาจตัดสิน

มีคนส่งเพจ “คุยกับอธิบดีกรมป่าไม้” มาให้ดู ท่านเอาภาพมุมสูงถ่ายจากเครื่องบินแสดงให้เห็นการทำลายเผาป่าอมก๋อย บางแปลงชัดเจนมาก เผาขยายที่ ไฟ ...

ทรัพยากรธรรมชาติของชาติของประชาชน 1

“ป่าเป็นทรัพยากรธรรมชาติของชาติของประชาชนใช่มั๊ย?” เจ้าหน้าที่ที่ดูแลป่าใช้เงินภาษีของประชาชนใช่มั๊ย?” ป่าของทุกคนถูกไหม้ป่าถูกทำลาย ทุกคนก็อยากช่วยดู ...

ทรัพยากรธรรมชาติของชาติของประชาชน 3

“ป่าเป็นทรัพยากรธรรมชาติของชาติของประชาชนใช่มั๊ย?” เจ้าหน้าที่ที่ดูแลป่าใช้เงินภาษีของประชาชนใช่มั๊ย?” ป่าของทุกคนถูกไหม้ป่าถูกทำลาย ทุกคนก็อยากช่วยดู ...

โครงการเขียวสู้ฝุ่น / Green City

โครงการเขียวสู้ฝุ่น/Green City เป้าหมาย เชื่อมร้อยและผลักดันการฟื้นฟูระบบนิเวศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ / พัฒนาแนวทางการจัดการเมืองสีเขียว เพื่อลดฝุ่นควั ...