ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ นักวิชาการอาวุโส ผู้ก่อตั้งศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (RECOFTC) ร่วมให้ข้อมูลในเวทีเศรษฐกิจจากป่ากับการบริหารจัดการไฟและฝุ่นควัน เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 ที่ตำบลแม่หอพระ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
โดยกล่าวถึงป่าผลัดใบ เต็งรัง เบญจพรรณ ในเอเชียเรามีป่าผลัดใบอยู่เกิน 50% ประเทศไทยถ้าไปดูในแผนที่เก่าๆมีป่าเต็งรังเกือบ 60% ของพื้นที่ป่าทั้งประเทศ น่าแปลกใจว่าป่าเต็งรังมักจะปรากฏขึ้นในบริเวณที่ประชากรต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตรสูงที่สุดของประเทศ พูดง่ายๆ ว่า ที่ไหนมีป่าเต็งรัง ที่นั่นจะมีประชากรมาก เช่น ภาคอีสานก็ดี ภาคเหนือก็ดี จุดนี้ชี้ให้เห็นว่า ป่าเต็งรังได้มีบทบาทหน้าที่ต่อสังคมไทยทั้งประโยชน์ในด้านอาหาร และสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ
แล้วเหตุใดเห็ดจึงมีมากที่สุดในพื้นที่ตำบลแม่พระ?
ในช่วงโควิด (ปี 2562) ตลาดปิดหมด แต่แม่ค้าที่ขายอยู่ริมถนนมีของเยอะแยะให้เลือกกิน สร้างรายได้แม้กระทั่งยามวิกฤติของประเทศ และหากพูดถึงเรื่องความมั่งคั่ง รัฐบาลเราสนใจเรื่องความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ความมั่งคั่งเพื่อวิถีชีวิตของชนบทที่ยั่งยืนนั้น จะต้องมีอยู่อย่างน้อย 5 ทุน เรียก 5 Capital Model ประกอบด้วย
- Natural Capital: ทุนทางธรรมชาติ ป่าไม้ ทะเลทราบ หนองบึง ที่ทำมาหากิน
- Human Capital: ทุนทางมนุษย์ที่มีทักษะต่างๆ เช่น การสานเข่งไม้ไผ่ การทำหน่อไม้ปี๊บ
- Social Capital: ทุนทางสังคม เช่น การรวมกลุ่มในหมู่บ้าน เครือข่ายในหมู่บ้าน
- Physical Capital: ทุนกายภาพ เช่น เครื่องมือ เครื่องจักรที่จำเป็น
- Financial Capital: ทุนทางการเงิน กองทุนหมู่บ้าน
โดย 5 ทุนนี้เป็นทุนสำคัญที่จะนำมาสู่การพัฒนาหมู่บ้านเพื่อให้เกิดความอยู่ดีกินดี บำบัดความยากจน ทุนทางธรรมชาติแบบที่อำเภออมก๋อยมีนั้นสร้างรายได้วันละหลายพันบาท ตราบใดที่มี 5 ทุนนี้เราก็ยังมีความมั่งคั่ง ฉะนั้นรักษาป่าชุมชนไว้ พัฒนาทุนมนุษย์ให้มีความสามารถเช่น ทำหน่อไม้ปี๊บ มีทุนสังคมรวมกลุ่มกัน มีเครื่องมือที่จำเป็น มีการเงินช่วย ซึ่งหน่อไม้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สามารถทำส่งขายกันได้ทั่วประเทศ
“ไฟ” มีประโยชน์ ใช้ให้เป็น คุมให้ได้
ส่วนเรื่องของไฟนั้น ป่าเต็งรังสมัยก่อนประมาณปี 2501 เรื่องการจุดไฟเป็นเรื่องธรรมดา ไฟเกิดทุกปีมี ข้อสังเกตว่าไฟที่เกิดทุกปีนั้น มีแนวโน้มไหม้เป็นหย่อมๆคือไหม้แบบขนมครก เชื้อเพลิงน้อย เผาทุกปีไฟไม่รุนแรง เชื้อเพลิงไม่สะสมมาก ขนาดตัวแลนวิ่งข้ามไฟได้
ไฟมีเรื่องสำคัญอยู่ 3 อย่างคือ 1) ความรุนแรงของไฟ 2) ความถี่ของไฟ และ 3) ฤดูที่ใช้ไฟ 3 อย่างนี้จะควบคุมโครงสร้างของป่า เพราะฉะนั้นตอนนี้บ้านเราไม่ทำไม้ (สัมปทาน) แล้ว เราสามารถใช้ไฟเป็นเครื่องมือหนึ่งในการจัดการทรัพยากรได้ ความถี่ของไฟจะช่วยควบคุมโครงสร้างของป่า
เราจะใช้ไฟเป็นเครื่องมือหนึ่งในการจัดการป่า แล้วเราจะใช้ไฟยังไงแบบควบคุม มีสุภาษิตอยู่อันนึงว่า Fire a good Servant but a bat Master หมายความว่า “ไฟเป็นผู้รับใช้ที่ดี แต่เป็นนายที่เลว” เพราะฉะนั้นอย่าเอาไฟมาเป็นนายเรา เราคุมมันไม่ได้-ตาย แต่ถ้าใช้ให้ถูก ควบคุมมันให้ได้ มันจะเป็นประโยชน์กับมนุษยชาติ
การที่มนุษย์ค้นพบไฟได้ทำให้มนุษย์ดีกว่าสัตว์ขึ้นมามาก เพราะฉะนั้นการใช้ไฟที่ดีที่สุดก็คือการเผาแบบควบคุม ก็คือ Prescribed Burning หรือ Early Burning แต่เมื่อเกิดอุณหภูมิผกผัน ยิ่งสูงขึ้นยิ่งร้อน ชั้นที่ว่านี้เป็นสิ่งที่ปกคลุมควันไฟไม่ให้กระจาย เป็นสิ่งที่กระทบกับคนเมือง เมื่อไหร่ที่ไฟผ่าน Inversion Layer ขึ้นไปได้ ก็จะกระจายไปอย่างเสรี การเกิด Inversion ได้นั้นเพราะมีชั้นอากาศอุ่นเข้ามาแทรก พอเกิดความร้อนขึ้นมา การเผาไหม้ รถติด จราจรเยอะ อากาศร้อนจะลอยขึ้นข้างบนเสมอเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อไหร่ที่มีชั้นอากาศอุ่นเข้ามาแทรกตรงนั้นจะเกิด Inversion ควันออกไปไม่ได้เกิดมลพิษควันฝุ่นขึ้นมา
ประเด็นว่าเราจะใช้ไฟแบบมีความรับผิดชอบต่อสังคมได้หรือไม่? คำตอบคือได้
เรามีวิธีเรียกว่า Ventilation Index เอาข้อมูลจากบรรยากาศมาคำนวณ โดยใช้ Mixing Depth ความสูงระหว่างการผสมกันของอากาศคือ Inversion Layer ถ้า Mixing Depth ดีการเผาจะไม่อันตราย แต่ถ้า MIXING DEPTH เตี้ยชิดดินการเผาจะเป็นปัญหา เราต้องเอาสิ่งเหล่านี้เข้ามาคำนวณว่าวันไหนควรจะเผา วันไหนไม่ควรเผา จึงมีคนคิดเรื่อง Ventilation Index คือการระบายควันออกมา โดยดู Inversion Layer สูงจากพื้นดินกี่กิโลเมตรและใช้ข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยามาคำนวณร่วมกับทิศทางและความเร็วของลม ถ้าค่าออกมาน้อยกว่า 2,000 อย่าเผา เพราะจะก่อผลกระทบ (Pollution) มาก ถ้าค่าอยู่ระหว่าง 2,000-4000 ก็ยังไม่ควรเผาจนกว่าจะ 11.00 นาฬิกา หรือจนกว่า Inversion จะยกตัวสูงขึ้นไปอีก ถ้าระดับสามค่าอยู่ระหว่าง 4,000-8,000 เผาได้เลย ส่วนระดับที่ 4 และ 5 สามารถเผาตอนไหนก็ได้ แต่ต้องระวังเรื่องการลุกลามเพราะลมแรง-ไฟอาจจะลุกลามเร็ว
Category Day | Ventilation Rate | Burning Guidelines |
I | 2000 | No burning |
II | 2000-4000 | No burning until 11 a.m. and not before surface inversion has lifted. |
III | 4000-8000 | Fire out by 4 pm Daytime burning only after inversion has lifted. |
IV | 8000-16000 | Burn anytime. |
V | 16000 | Unstable and windy.Excellent smoke dispersal. Burn with caution |
ตารางเทียบ Ventilation Index 5 ขั้น
ตารางดังกล่าว ในประเทศแคนาดาประกาศทุกเช้าโดยประกาศ 3 วันล่วงหน้า อเมริกาก็พัฒนาเช่นกันเพื่อหาดัชนีที่เหมาะกับการเผาโดยไม่ทำให้ควันเป็นอันตรายกับคน ประเทศเกาหลีที่อยู่ใกล้บ้านเราก็ใช้ไฟและทำเหมือนกัน เพราะฉะนั้นการใช้ไฟดีเรามีวิธี แต่สื่อสร้างภาพจนกระทั่งทำให้คนในประเทศไทยเกลียดกลัวไฟ On Fire is bad สังคมส่วนใหญ่ไม่รู้ว่ามีไฟดี
ทำไมป่าผลัดใบต้องใช้ไฟ?
ความจริงไฟที่เกิดขึ้นเป็นประโยชน์กับระบบนิเวศน์ เพราะป่าเต็งรังเป็นระบบนิเวศน์ที่พึ่งพาไฟ ผมไปที่บุรีรัมย์มีการรักษาความชุ่มชื้น ทำอะไรมากมาย ปรากฏว่าไม้เต็งตายหมดเพราะว่าไม่เผา น้ำ/ความชื้นในดินสูงเพราะไปทำสระ ไม้เต็งขนาดต้นเท่าแขน เท่าขา ยืนต้นตายหมด การทดลองที่สตริงเต็ง 50 ปี ปรากฏว่าป่าเต็งรังอยู่ไม่ได้ แปลงทดลองที่ป้องกันไฟป่าเต็งรัง 10 ปีที่ผมศึกษาที่สะแกราช ปรากฏว่ามีพันธุ์ไม้เพิ่มขึ้น คือไม้แดง ไม้ประดู่ ฯลฯ โครงสร้างเปลี่ยนจากป่าเต็งรังเป็นป่าเบญจพรรณที่ต้องการความชื้นขึ้นมาอีกนิดหน่อย หลังจากนั้นโครงการของทางญี่ปุ่นก็เข้าไปศึกษาต่อ ปรากฏว่าไม้ป่าดิบเข้าไปแทน ทำให้ไม่มีเห็ดกินแล้ว เพราะฉะนั้นตราบใดที่ต้องการเห็ดก็ต้องมีไฟ เราต้องการความหลากหลายของประเภทป่า เต็งรัง เบญจพรรณ ดิบแล้ง ดิบเขา ฯลฯ ไม่ได้ต้องการป่าประเภทเดียว อีกประการหนึ่งคือ ไฟกระตุ้นการออกดอกของพืช เช่น กระตุ้นการออกดอกของหญ้าคา เผาวันนี้อีกสองอาทิตย์หญ้าคาแตกดอก มีดอกขึ้นมาขาวไปทั้งภูเขา
‘ไฟ’ ยังทำให้ผึ้งป่าทำหน้าที่ได้ดี 90% ของไม้ป่าในประเทศไทยอาศัยผึ้งในการผสมละอองเกสร ปัจจุบันผึ้งป่าลดจำนวนลงในโลกนี้เพราะไม่มีอาหารกิน ไปกินไร่ส้มเขาก็ฉีดยาเหม็นอันตราย เพราะฉะนั้นผึ้งป่าไม่มีอาหารกิน บนดอยปลูกพืชก็กางมุ้งกันตอนนี้ ก็เลยกลัวกันว่าผึ้งป่าจะหมดลง เมื่อไหร่ที่ผึ้งป่าหมดลงจะส่งผลทำให้ผลผลิตทางการเกษตรของเราต่ำลงไปด้วย ไฟป่าจากการศึกษาในประเทศที่เจริญแล้ว ปรากฏว่ากระตุ้นช่วยให้ผึ้งเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 2 เท่า อันนี้เป็นข้อมูลของมหาวิทยาลัยนอร์ทคาโรไลนา ศึกษาไฟที่เกิดจากการชิงเผาช่วยให้ผึ้งป่ามีจำนวนมากขึ้น ช่วยไปผสมเกสรพืชอาหารทั้งหลาย บวบ แตงกวา ฯลฯ มีการออกดอกออกผลดีขึ้น เพราะฉะนั้นเรามีวิธีที่จะจัดการกับไฟ
ชิงเผาอย่างไร ให้มีคุณภาพ?
การชิงเผาเราต้องจำแนกระบบนิเวศน์ออกมา คือ 1) ระบบนิเวศน์ที่พึ่งพาไฟ อยู่กับไฟได้ดี โดนไฟแล้วแตกหน่อทันที คือป่าผลัดใบ เต็งรัง เบญจพรรณ สัก กับ 2) ระบบนิเวศน์ที่เปราะบางต่อไฟ โดนไฟลวกแล้วตาย และ 3) ระบบนิเวศน์ที่เป็นอิสระจากไฟ ไฟไม่มีบทบาทเลยคือเย็นเกินไป เช่น ป่าทุนดราในเมืองหนาว เพราะฉะนั้นการใช้ไฟเขาเผาเพื่อป้องกันบริเวณที่เซนซิทีฟแอเรีย เช่นในออสเตรเลียบางจุด บริเวณป่าดิบชื้นดอยอ่างกาหลวง อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ มีไม้ตระกูล มอส กุหลาบป่า ฯลฯ แบบนี้โดนไฟไม่ได้ หากไม่ต้องการให้มีไฟเข้าไปรบกวนบริเวณที่เปราะบาง จะต้องเผาบริเวณรอบพื้นที่ ถ้าเราเลือกวันดีๆ ก็จะไม่ทำให้เกิด PM2.5 มาก
ดังนั้น ข้อเสนอของผม มองว่าประเทศไทยควรจะประกาศ เรามีข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาพร้อม ใช้ไฟเป็นเครื่องมือ เพราะเมื่อไหร่ที่เราใช้ไฟเป็นเครื่องมือเราควบคุมมันได้ อันนี้แหละที่เราเป็นนายไฟ ใช้ในบริเวณที่จำเป็น อธิบดีกรมป่าไม้คนแรกของไทย Mr. H. Slade เขียนหนังสือชื่อ Too Much Fire Protection in Burma คือประเทศพม่าป้องกันไฟมากเกินไป พอป้องกันไฟมากเกินไปปรากฏว่าต้นไม้สักโตไม่ดี อีกทั้งโดนแมลงเจาะ สมัยก่อนเราใช้ไฟจัดการสวนสักเพื่อฆ่ามอดเจาะไม้สัก ปัจจุบันมีการทำสวนสักกันมาก เช่นเชียงราย พะเยา ถ้าไม่ป้องกันเรื่องมอดเจาะเป็นรู ก็จะแปรรูปได้ราคาไม่ดี เพราะฉะนั้นไฟก็ช่วยป้องกันแมลงศัตรูพืช แมลงที่นำวัชพืชต่างถิ่นเข้ามา
ไฟมีประโยชน์แต่เราต้อง “ใช้ให้เป็น คุมให้ได้” การใช้ไฟเป็นเครื่องมือต้องทำอย่างจริงจัง ป้องกันไม่ให้ลุกลาม เผาในบริเวณจำกัด หน่วยในการเผาต้องมีขนาดให้เหมาะสม และเผาในตอนที่เชื้อเพลิงแห้งมีความชื้นไม่มากเพื่อไม่ให้มีควันเยอะสร้างฝุ่น เหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรทำ รู้ว่าเวลาใดควรเผา 1 เดือนมีกี่วันเราคำนวณได้โดยใช้สูตรตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน อยากให้มีการพัฒนาสูตรเหล่านี้ซึ่งทำได้ทั้งโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความยั่งยืนที่คลอบคลุมทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สุขภาพของผู้คนและโครงสร้างของป่าไม้ที่มีความหลากหลายของระบบนิเวศน์
เรียบเรียงโดย: ปริศนา พรหมมา