สภาลมหายใจเชียงใหม่

การบริหารจัดการไฟในพื้นที่ป่าผลัดใบ : สู้กับไฟด้วยไฟ

“ป่าเต็งรังสมัยก่อนการจุดไฟเป็นเรื่องธรรมดา ไฟเกิดทุกปีมีแนวโน้มไหม้เป็นหย่อมๆคือไหม้แบบขนมครก เชื้อเพลิงน้อย เผาทุกปีไฟไม่รุนแรง ขนาดตัวแลนวิ่งข้ามไฟได้เชื้อเพลิงไม่สะสมมาก

ดร.สมศักดิ์ สุขวงค์ อดีตคณบดี คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวในเวทีเศรษฐกิจจากป่ากับการบริหารจัดการไฟและฝุ่นควัน 30 มีนาคม 2566

การจัดการไฟในพื้นที่ป่าปี 2566 เป็นปีที่มีความท้าทายของทุกป่าทั่วประเทศ เนื่องจากสองปีที่ผ่านมามีฝนตกมากความชื้นสูง ไฟในพื้นที่ป่าเกิดน้อย จุดความร้อน (Hotpot) ลดต่ำต่อเนื่องมา 2 ปี บวกกับปีนี้เป็นปีที่ร้อนแล้งอุณหภูมิฤดูร้อนหลายพื้นที่ จากภาวะเอลนินโญ่ซึ่งระยะหลังมีรอบที่สั้นลงมาก

ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตป่าหรือรอบเขตป่า รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกือบทุกพื้นที่ให้ข้อมูลสอดคล้องกันว่าการห้ามไม่ให้มีไฟเกิดขึ้นหรือ Hotpot เป็นศูนย์ (Zero Burning) ตลอดไปนั้นเป็นไปไม่ได้จริง โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าผลัดใบ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารจากป่าที่สำคัญ การป้องกันไฟอย่างเก่งก็จะทำได้สัก 2-3 ปี แต่บางพื้นที่ชาวบ้านสามารถควบคุมกันได้ดีก็อาจได้ถึง 10ปี แต่ในที่สุดแล้วเมื่อเจอกับปีที่แห้งแล้งจัด บวกกับปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น คนเห็นต่าง คนดื้อ ความขัดแย้ง ไม่ชอบผู้นำ ไม่ชอบเจ้าหน้าที่ที่เข้มงวด ความประมาทพลั้งเผลอของคนใช้ไฟในพื้นที่เกษตรทำให้ไฟหลุดออกนอกการควบคุม หรือแม้แต่คนสัญจรผ่านทางก็อาจก่อให้เกิดไฟขนาดใหญ่ขึ้นได้แทบทั้งสิ้น เชื้อเพลิงที่สะสมมา 5-10 ปี ไฟที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นไฟขนาดใหญ่ขึ้นสูงถึงเรือนยอดต้นไม้ อันตรายกับคนที่เข้าดับไฟ เกิดการสูญเสียชีวิตจำนวนมากเช่นในปี 2563 รวมทั้งหากลามจากป่าเต็งรังเข้าสู่เขตป่าดิบแล้ง ดิบชื้น ก็กลายเป็นไฟใต้ดินเนื่องจากมีชีวมวลอัดแน่นหลายสิบปี เพราะป่าประเภทนี้ชุมชนจะปกป้องไว้ห้ามไฟเข้าเด็ดขาด ตัวอย่างไฟบ้านดอยปุย อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพเมื่อปี 2563 การดับไฟใต้ดินและไฟเรือนยอดนั้นยากต้องอาศัยผู้รู้ในชุมชนออกแบบวางแผน ร่วมกับการสนับสนุนจากอากาศยานเพราะมีความอันตรายอย่างยิ่ง

บทเรียนจากจังหวัดเชียงรายปีนี้ นอกจากควันข้ามแดนแล้ว ไฟป่าภายในพื้นที่จังหวัดเองก็หนัก ทั้งอุทยานแห่งชาติลำน้ำกก ภูชี้ฟ้า ดอยตุง ดอยวาวี ฯลฯ ซึ่งคนในพื้นที่สะท้อนข้อมูลว่า 3 ปีที่ผ่านมาจังหวัดประสบความสำเร็จในเรื่องการควบคุมไม่ให้เกิดไฟได้ดี แต่ปีนี้ไม่สามารถควบคุมได้เมื่อเกิดไฟขึ้นในปีนี้จึงหนักมากเพราะมีชีวมวลสะสมมาหลายปี และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถควบคุมไฟได้ในหลายพื้นที่ของจังหวัด “พื้นที่ไฟไหม้ปีนี้คือพื้นที่ที่ปกป้องไว้ได้เมื่อสองสามปีที่ผ่านมา และพื้นที่ที่ปกป้องได้ปีนี้อีกสองสามปีหรือปีหน้าก็จะไหม้ ” นี่เป็นข้อเท็จจริงที่ชาวบ้านในเขตป่าผลัดใบทุกพื้นที่สังเกตุได้ตลอดช่วงที่ผ่านมา ส่วนจังหวัดเชียงใหม่ดูเหมือนเดินมาไกล ยอมรับเรื่องการใช้ไฟ จากแนวทาง Zero Burning สู่การบริหารจัดการไฟ (Fire Management) ให้ชุมชนและหน่วยงานป่าไม้ที่ต้องการใช้ไฟสามารถจัดทำแผนขอใช้ไฟเพื่อจัดการพื้นที่เกษตรและพื้นที่ป่าเข้าสู่ระบบ FireD ซึ่งปีนี้อนุมัติโดยศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฯระดับอำเภอ แนวทางดูเหมือนก้าวหน้าดี แต่ระบบรองรับตามไม่ทัน คนเชียงใหม่เองก็ตามไม่ทัน



แผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงตำบลแม่หอพระ อำเภอแม่แตง

มีการจัดทำแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงที่ค่อนข้างก้าวหน้า คือมีแผนรายหมู่บ้าน 7 บ้านที่ติดป่า มีพิกัดแผนที่แนบทุกบ้าน จัดตารางเวลาการใช้ไฟเพื่อไม่ให้เกิดการเผาพร้อมกัน แผนบริหารเชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นจัดทำโดยเทศบาลตำบลร่วมกับคณะกรรมการหมู่บ้าน เริ่มกระบวนการกันตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 และมีการเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบร่วมกันในเวทีตำบล ที่ก้าวหน้ามากก็คือแผนบริหารเชื้อเพลิงเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดไฟใหญ่/ไฟที่ควบคุมไม่ได้ นั้นครอบทับกับพื้นที่เห็ดซึ่งเป็นรายได้สำคัญของชาวบ้านในแถบนี้และละแวกใกล้เคียง เพื่อก้าวข้ามปัญหาการโทษกันไปมาเรื่องเผาเอาเห็ดถอบ เป็นแผนจัดการเชื้อเพลิงด้วยสองวัตถุประสงค์สำคัญ ซึ่งเคยประสบความสำเร็จในปี 2565 คือเมื่อทำแบบนี้แล้วพบว่าไฟแอบจุดหรือไฟนอกแผนลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่น่าเสียดายที่แผนดังกล่าวที่ตั้งใจจะบริหารจัดการในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ถูกขอให้ชะลอออกไปก่อนโดยไม่มีกำหนด ลากยาวมาจนถึงปลายเดือนมีนาคมในที่สุดก็เกิดไฟแอบจุดในเวลาที่ไม่เหมาะสมยิ่งกว่า เกิดพื้นที่เผาไหม้มากกว่าแผนบริหารเชื้อเพลิงที่วางไว้ เนื่องจากเป็นการเผาแบบยุทธการใต้ดินคือจุดอีกดอยเพื่อหวังให้ลามไปอีกดอย จุดแล้วไม่มีการควบคุมเพราะจุดแล้วต้องรีบหนี สรุปคือไฟเกิดขึ้นกระจายไปหลายจุด ฮอตสปอตขึ้นแต่ละวันในช่วงปลายเดือนมีนาคมจนถึงขณะนี้ไม่ต่ำกว่า 7 จุด คณะกรรมการหมู่บ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้หลับได้นอน ทุกฝ่ายโดนด่าทั้งชาวบ้านที่มีรายได้จากป่า เจ้าหน้าที่/หน่วยงานระดับปฏิบัติการในพื้นที่ และที่สำคัญคือจำนวนวันที่ต้องจมอยู่ในมลพิษทางอากาศก็กินช่วงเวลายาวนานเพราะการใช้ไฟเป็นไปแบบสะเปะสะปะ

จะดีกว่าหรือไม่? 

ถ้าให้ไฟเพื่อเศรษฐกิจจากป่า เป็นหนึ่งใน “ไฟจำเป็น” ที่ต้องจัดการแบบควบคุมร่วมกัน โดยจัดทำเป็นแผนระดับหมู่บ้าน นำปัจจัยที่ควบคุมได้เข้ามาสู่ระบบ แทนการด่าทอและแบนเห็ดถอบ และที่สำคัญปัจจุบันการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในป่าเต็งรังเป็นเรื่องจำเป็นไม่ใช่แค่เรื่องผลผลิตจากป่าเท่านั้น แต่คือการบริหารชีวมวลในป่าผลัดใบเพื่อไม่ให้ไฟลุกลามจากป่าผลัดใบเข้าสู่ป่าดิบแล้งดิบชื้น ลดความเสี่ยงไฟขนาดใหญ่ในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ไม่มีความแน่นอนอีกต่อไป กลไกของจังหวัดและผู้คนที่เกี่ยวข้องเหมือนจะยอมรับเรื่องนี้ แต่ปฏิบัติการยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงแม้ชุมชนจะมีแผนการจัดการที่ค่อนข้างดีแล้วก็ตาม เนื่องจากฐานอำนาจไม่ได้อยู่ที่ชุมชน ทำให้ผู้ที่ต้องการใช้ไฟยังคงใช้วิธีแอบใช้นอกแผน เราจึงตกอยู่ในภาวะพายเรือในอ่างวนไปมา

ในแง่มุมทางวิชาการนั้น ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ ผู้ก่อตั้งศูนย์วนศาสตร์ชุมชนภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งมีงานศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการใช้ไฟเพื่อบริหารจัดการป่ามามากกว่า 40 ปี เสนอในเวทีเสวนาเศรษฐกิจจากป่ากับการบริหารจัดการไฟและฝุ่นควัน เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 ว่า

“เราสามารถใช้ไฟแบบมีความรับผิดชอบต่อสังคมได้หรือไม่? คำตอบคือได้ เรามีวิธีเรียกว่า Ventilation Index คือเอาข้อมูลจากบรรยากาศมาคำนวณ ประเทศแคนาดาประกาศทุกเช้าโดยประกาศ 3 วันล่วงหน้า อเมริกาก็พัฒนาเช่นกันเพื่อหาดัชนีที่เหมาะกับการเผาโดยไม่ทำให้ควันเป็นอันตรายกับคน ประเทศเกาหลีที่อยู่ใกล้บ้านเราก็ใช้ไฟ ข้อเสนอผมว่าประเทศไทยควรจะประกาศ เรามีข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาพร้อมใช้ไฟเป็นเครื่องมือ เพราะเมื่อไหร่ที่เราใช้ไฟเป็นเครื่องมือเราควบคุมมันได้ อันนี้แหละที่เราเป็นนายไฟ คือใช้ในบริเวณที่จำเป็นและต้องทำอย่างจริงจัง ‘การใช้ไฟดี’ เรามีวิธีแต่สื่อสร้างภาพจนกระทั่งทำให้คนในประเทศไทยเกลียดกลัวไฟ สังคมส่วนใหญ่ไม่รู้ว่ามีไฟดี”  


คำถามสำคัญ 

คือเราจะใช้แนวทางเก็บชีวมวลในพื้นที่ป่าผลัดใบไว้ให้เป็นเครื่องมือของคน/ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ในปีที่ 5 , 10 , 15 หรือ เราจะใช้ไฟเพื่อเป็นเครื่องมือบริหารจัดการป่าผลัดใบลดความเสี่ยงไฟใหญ่ที่ไม่มีใครปรารถนา โดยให้กลไกลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพร่วมกับชุมชน หน่วยงานป่าไม้และนักวิชาการร่วมสนับสนุนการจัดทำแผนบริหารจัดการที่เหมาะสมกับระบบนิเวศน์ป่าไม้แต่ละพื้นที่ โดยกำหนดเปอร์เซ็นต์ของการบริหาร มีตัวชี้วัดความสำเร็จการจัดการ เป็นแผนและปฏิบัติการที่มีรายละเอียด มีประสิทธิภาพร่วมกัน ต่อจิ๊กซอหมู่บ้าน-ตำบล-เป็นภาพรวมจังหวัด เพื่อให้เหลือไฟนอกแผนฯ หรือไฟไม่มีเจ้าของให้น้อยที่สุด

เรียบเรียงโดย: ปริศนา พรหมมา