6 กรกฎาคม 2566 ณ ห้องประชุมพลอยพลิน โรงแรมกรีนเลค รีสอร์ท เชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 3 (พิษณุโลก) และสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 4 (นครสวรรค์) กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกองทัพภาคที่ 3 ร่วมเปิดตัวโครงการสร้างการรับรู้เชิงรุกและสร้างเครือข่ายชุมชนปลอดการเผาในพื้นที่เสี่ยงต่อการเผาไหม้ซ้ำซากด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน” ภายใต้การสนับสนุนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า จากความร่วมมือของ กรมควบคุมมลพิษ กองทัพภาคที่ 3 และ สสส. โครงงานนี้ต้องการจะเข้าไปแก้ปัญหาในพื้นที่ที่เกิดไฟซ้ำซาก 80 ตำบล ใน 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ตาก กำแพงเพชร โดยจะนำเอาโมเดลที่ประสบความสำเร็จ เข้าไปสื่อสารแบบเชิงรุก สร้างความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ ปัญหาที่เคยเกิด จะต้องลดลงหรือมีทิศทางที่ดี การบริหารจัดการไฟจากนี้จะง่ายขึ้น จะเอานวัตกรรมต่างๆ เข้าไปขับเคลื่อน สื่อสาร แจ้งเหตุ ตั้งเป้าให้เป็นพื้นที่โมเดลต้นแบบของความสำเร็จ และสามารถขยายผลเป็นสู่พื้นที่อื่นๆต่อไป
ด้าน นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. ในฐานะผู้สนับสนุนการดำเนินโครงการฯ ระบุว่า หวังให้เกิดภาพการทำงานร่วม ระหว่างชุมชนกับส่วนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมาย คือเข้าใจ เห็นปัญหาเดียวกัน ควบคู่กับการชี้ให้เห็นถึงทางเลือกและทางออก เป็นการเข้าไปติดอาวุธให้ชุมชน “จุดร่วมสำคัญของโครงการนี้ คือการสื่อสารเชิงรุก ยกระดับปฏิบัติการให้เข้มแข็งมากขึ้น 3 จังหวัด ในพื้นที่นำร่อง แม้จะที่มีความแตกต่างกันเชิงบริบท ถ้าวันนี้ชุมชนเข้าใจ ชาวบ้านเข้าใจ ผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้กำหนดนโยบาย เข้าใจ และเอาด้วย จะช่วยให้ปัญหาถูกแก้ได้อย่างตรงจุด” นายชาติวุฒิ กล่าวย้ำ
สำหรับโครงการสร้างการรับรู้เชิงรุกและสร้างเครือข่ายชุมชนปลอดการเผาในพื้นที่เสี่ยงต่อการเผาไหม้ซ้ำซากด้วย กระบวนการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในวงเงิน 3,997,500 บาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 16 เดือน ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2567 คัดเลือกพื้นที่เป้าหมาย คือ พื้นที่ที่เกิดจุดความร้อน (Hotspot) สะสมหนาแน่น 3 ปีย้อนหลัง คือ ปี 2563-2565 โดยพิจารณาปัจจัยเชิงพื้นที่เพื่อให้ครอบคลุมลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดิน ได้แก่ พื้นที่ชุมชนในเขตป่า พื้นที่ชุมชนในเขตรอยต่อป่า-เกษตร และชุมชนในพื้นที่เกษตร รวมทั้งความพร้อมของพื้นที่ในการให้ ความร่วมมือขับเคลื่อนการดำเนินโครงการฯ ซึ่งมี 3 กิจกรรมที่สำคัญ คือ 1. สร้างการรับรู้ผ่านกิจกรรมเคาะประตูบ้าน ดำเนินการโดยกองทัพภาคที่ 3 ผ่านการสื่อสารเชิงรุก การลาดตระเวรป้องปราม กิจกรรมมวลชนสัมพันธ์ในกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญ เช่น กลุ่มเข้าป่าล่าสัตว์ กลุ่มผู้น้า ชุมชนกลุ่มประชาชนทั่วไป โดยมีพื้นที่เป้าหมายดำเนินการ 80 ตำบลใน 3 จังหวัด แยกเป็นจังหวัดเชียงใหม่ 50 ตำบล , จังหวัดตาก 25 ตำบล และ จังหวัดกำแพงเพชร 5 ตำบล 2.การสร้างเครือข่ายชุมชนปลอดการเผา ดำเนินการโดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุม มลพิษที่ 1 (เชียงใหม่) สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 3 (พิษณุโลก) และสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 4 (นครสวรรค์) มีพื้นที่เป้าหมายดำเนินการ 80 ชุมชน ใน 6 ตำบล 3 จังหวัด คือตำบลแม่ศึก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ 17 ชุมชน , ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ 16 ชุมชน , ตำบลแม่สลิด อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก 13 ชุมชน ตำบลคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก 13 ชุมชน , ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร 10 ชุมชน และตำบลปางตาไว อำเภอปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร11 ชุมชน และ 3.การสื่อสารให้ความรู้ในวงกว้างภาพรวมทั้งประเทศ ดำเนินการโดยกรมควบคุมมลพิษ ผ่านช่องทางการเผยแพร่ที่สำคัญ คือ Facebook แฟนเพจ “ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ” (ศกพ.)
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการถ่ายทอดองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับปัญหามลพิษทางอากาศ PM2.5 จากการเผาในที่โล่ง จากฐานความรู้และนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาให้เกิดความยั่งยืน ภายใต้ฐานความรู้ 8 ฐาน จากเครือข่ายชุมชนปลอดการเผา ตำบลแม่ศึก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ และสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่) และหน่วยงานร่วมดำเนินโครงการฯ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) สภาลมหายใจภาคเหนือ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) โดย ศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (ภาคเหนือ) ภาควิชาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะทำงานโครงการ เชียงใหม่โมเดล สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ //