สภาลมหายใจเชียงใหม่

ยุทธศาสตร์และแผนงาน

สภาลมหายใจเชียงใหม่ ปี 2564-2566

ที่มาและความสำคัญ

จุดเริ่มต้นของแนวคิดการก่อตั้งสภาลมหายใจเชียงใหม่ มาจากกลุ่มประชาชนและเครือข่ายที่ทำงานขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและมลพิษทางอากาศ ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน (กกร.) และภาคประชาชน ที่เห็นพ้องว่าจังหวัดเชียงใหม่จะต้องรวมพลังของประชาชนให้เป็นเอกภาพ เพื่อทำงานขับเคลื่อน ประสานงานและหนุนเสริมการทำงานของประชาชนทุกฝ่ายในการร่วมกันแก้ไขปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศ ทั้งระยะสั้น การแก้ปัญหาในช่วงเผชิญเหตุการณ์วิกฤตเฉพาะหน้า ระยะกลางและระยะยาว โดยมุ่งไปสู่เป้าหมายเพื่อประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือมีอากาศหายใจที่สะอาดและปลอดภัยตลอดทั้งปี ภายใต้แนวคิด “เรามีลมหายใจเดียวกัน”

สภาลมหายใจเชียงใหม่ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2562 มีลักษณะเป็นองค์กรเปิด สามารถขยายเครือข่ายความร่วมมือในการทำงานแก้ไขปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศแบบเปิดกว้าง มี 5 ทิศทางดำเนินงานคือ

  1. ปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศสามารถแก้ไขได้โดยต้องมองปัญหาในระยะยาวและรอบด้านมุ่งไปสู่การแก้ไขปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืน
  2. ปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศ จำเป็นต้องใช้มาตรการผลักดันทางสังคมควบคู่ไปกับการใช้มาตรการทางกฎหมายและปฏิบัติการของราชการ ประชาชนและภาคประชาสังคมมีบทบาทในการรณรงค์และผลักดันนโยบายสาธารณะ ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือและความเข้าใจถึงปัญหา เพื่อนำไปสู่การทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศอย่างบูรณาการและมีส่วนร่วม
  3. การแก้ปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศโดยมาตรการห้ามเผาในช่วงวิกฤต (มกราคม-เมษายน) ไม่สามารถแก้ไขปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศในจังหวัดเชียงใหม่ได้อย่างตรงจุด จำเป็นต้องมีการวางแผนการทำงานและมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ภายใต้ความเข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาที่ถูกต้อง
  4. ต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่าปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศในจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ มีความซับซ้อนและมีความขัดแย้ง มีช่องว่างเกี่ยวกับการทำงานในระดับหน่วยงานพื้นที่และระดับนโยบายสภาลมหายใจเชียงใหม่จะทำงานบนฐานการสร้างความร่วมมือและลดปัญหาความขัดแย้ง แสวงหาหนทางในการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหา เข้าใจความแตกต่าง หนุนเสริม เสนอแนะ และผลักดันนโยบายหรือมาตรการที่เป็นประโยชน์ โดยยึดเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ
  5. ออกแบบการทำงานที่มุ่งประสานความร่วมมือและความเข้าใจระหว่างประชาชนในพื้นที่เมืองและนอกเมือง  ตลอดจนภาคีทุกภาคส่วน  โดยให้ความสำคัญกับการลดแหล่งกำเนิดของฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศจากทุกแหล่งกำเนิด ทั้งในพื้นที่เมืองและพื้นที่นอกเมือง รณรงค์ให้สังคมเห็นถึงภยันตรายของปัญหา วิธีป้องกัน และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับระบบนิเวศของภูมิประเทศแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน เพื่อให้เห็นภาพชัดในการร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างมีความเข้าใจและยั่งยืน

ยุทธศาสตร์และแผนงาน

สภาลมหายใจเชียงใหม่ ปี 2564-2566

การดำเนินงานในปี2562-2563 ผลลัพธ์สำคัญคือ

  1. การนำเสนอนโยบายสาธารณะเรื่องการบริหารจัดการเชื้อเพลิง ที่เปลี่ยนจากแนวคิดห้ามเผาเชื้อเพลิงทุกประเภท ไปเป็นการบริหารจัดการเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการจัดทำแผนการบริหารจัดการเชื้อเพลิงโดยชุมชนมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกลไกหลักในการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในท้องที่เช่น หน่วยงานรัฐที่ดูแลพื้นที่ป่าสงวนและป่าอนุรักษ์องค์กรประชาสังคม เป็นต้น เกิดการทำงานร่วมกับจังหวัดและองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพื่อออกมาตรการแก้ไขปัญหาและข้อจำกัดในภารกิจที่ได้รับการถ่ายโอนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การแก้ปัญหาเรื่องแนวเขตที่ดินทำกินของชาวบ้านในเขตป่า การกระจายอำนาจทั้งภารกิจและงบประมาณเพื่อดำเนินการบริหารจัดการเชื้อเพลิงและภารกิจอื่น ๆ แก้ไขปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศ
  2. การสร้างรูปแบบการลดปัญหามลพิษจากแหล่งกำเนิดยานยนต์และแหล่งกำเนิดอื่นๆในเขตพื้นที่เมืองและรอบเมือง เกิดการจัดทำเส้นทางจักรยานท่องเที่ยวย่านชุมชนเมืองเก่า”กิจกรรมปั่นเพื่อเปลี่ยน”ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลและจักรยานยนต์ ต่อยอดเป็นการพัฒนาสร้างเส้นทางจักรยานในเขตเมือง การจัดกิจกรรมสร้างความรู้ความตระหนักปัญหามลพิษอากาศ กิจกรรมนิทรรศการ Art For Air -Beat the Haze – Lanna ฟ้าใส และการสร้างความรู้เรื่องการจัดการขยะ การทำงานร่วมกับเทศบาลนครเชียงใหม่และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 14 แห่งในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่เรื่องการบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะ พื้นที่สีเขียว การจัดทำต้นแบบบ้าน วัด โรงเรียน ชุมชน สู้ฝุ่น 
  3. การมีส่วนร่วมพัฒนากลไกความร่วมมือในระดับจังหวัดในรูปแบบคณะกรรมการแก้ปัญหาฝุ่นควันแบบบูรณาการทุกภาคส่วน กลไกความร่วมมือเครือข่ายประชาชนพื้นที่ดอยสุเทพจัดการไฟป่าและฝุ่นควัน กลไกความร่วมมือการบัญชาการจัดการไฟป่าและฝุ่นควัน
  4. การขยายภาคีความร่วมมือไปสู่ระดับภาคเหนือ ก่อเกิดเครือข่าย “สภาลมหายใจภาคเหนือ”
  5. มีกลไกเครื่องมือสนับสนุนที่เป็นรูปธรรมสำคัญคือ งานวิชาการ งานสื่อ งานสร้างอาสาสมัคร
  6. เกิดแนวคิดและกระบวนการทำงานแบบ “เชียงใหม่โมเดล”เป็นการเชื่อมโยงพลังภาคีทุกภาคส่วนเชื่อมร้อยทุกศักยภาพร่วมกันขับเคลื่อนการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นการทำงานเชิงป้องกันและต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยพัฒนาแผนบูรณาการในแก้ปัญหาฝุ่นควันจากทุกแหล่งกำเนิด ทั้งการป้องกันไฟป่าและฝุ่นควัน ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน การดูแลสุขภาพและสวัสดิการ และให้ความสำคัญในการระดมการสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชนในการพัฒนาแผนและปฏิบัติการบริหารจัดการป้องกันและก้ไขปัญหาฝุ่นควันอย่างยั่งยืนตามบริบทของพื้นที่

จุดแข็ง

สภาลมหายใจเป็นผู้ทำหน้าที่เชื่อมร้อยความร่วมมือในการทำงานขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศที่สำคัญ เป็นพื้นที่กลางหรือพื้นที่หน้าหมู่ที่รวบรวมประชาชนผู้มีจิตอาสาเข้ามาช่วยในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศ อำนวยให้ทุกภาคส่วนเข้ามาทำงานร่วมกันได้ง่ายขึ้นและเกิดการทำงานขับเคลื่อนไปพร้อมๆกันอย่างมีประสิทธิภาพ มีส่วนช่วยในการประสานงานกับภาคประชาชนและภาคเอกชน เป็นตัวแทนของจังหวัดเชียงใหม่ในการรับบริจาคเงินและสิ่งของเพื่อช่วยเหลือบรรเทาสถานการณ์วิกฤตฝุ่นควันและไฟป่าในจังหวัดเชียงใหม่ประชาสัมพันธ์ข่าวสารและกิจกรรมกับประชาชนอย่างต่อเนื่องและได้รับการยอมรับในการทำงานร่วมกับภาครัฐในระดับจังหวัด

จุดอ่อน

การทำงานในรูปแบบสภาลมหายใจเป็นการสานพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการทำงานเพื่อแก้ปัญหา ศักยภาพของสภาลมหายใจในการทำงานเชื่อมประสานกับหน่วยงานรัฐที่มีความหลากหลายหน่วยงาน หลากหลายภารกิจ ยังดำเนินการได้ไม่เต็มศักยภาพเป็นข้อจำกัดทั้งกระบวนการของสภาเองและในส่วนของอาสาสมัคร คนทำงาน ที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาศักยภาพการทำงานเชื่อมประสานกับหน่วยงานรัฐ เอกชน กลไกภายในสภาลมหายใจเชียงใหม่ที่ขาดการบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมการทำงานขับเคลื่อนในพื้นที่นำร่องยังไม่สามารถยกระดับข้อเสนอทางนโยบายสาธารณะในการแก้ปัญหาในระดับชาติและการแก้ปัญหาฝุ่นควันข้ามแดนได้

โอกาส

โอกาสสถานการณ์ฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศ เป็นปัญหาในระดับประเทศและเป็นวาระแห่งชาติ ทำให้ได้รับความสนใจจากประชาชนและสื่อมวลชน ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีงานศึกษาและงานวิจัยของภาคีวิชาการเกี่ยวกับปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศจำนวนมากซึ่งสามารถนำมาเป็นฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีทั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศที่มีการติดตั้งครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัดมากที่สุดในประเทศไทย มีแอปพลิเคชันแจ้งเตือนค่าคุณภาพอากาศและบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่เกษตรและพื้นที่ป่า มีหน่วยงานภาครัฐและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่พร้อมทำงานร่วมกับประชาชนในพื้นที่ มีวิธีทางกฎหมายที่แก้ปัญหาเรื่องกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น การจัดการที่ดินในเขตป่า มีกระบวนการสมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงใหม่ที่สร้างเครือข่ายแก้ปัญหาด้านสุขภาพ มีเทคโนโลยีหน้ากากป้องกันฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ซึ่งเป็นต้นทุนของจังหวัดเชียงใหม่ที่เผชิญฝุ่นควันไฟป่าและมลพิษทางอากาศมาเป็นระยะเวลานานกว่า 15ปี

สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19ส่งผลให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวันโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสวมใส่หน้ากากอนามัยซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าวแล้ว ยังช่วยป้องกันฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศในภาวะวิกฤตได้เป็นอย่างดี

อุปสรรค

การป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศต้องเริ่มที่การเข้าใจข้อเท็จจริงของปัญหาอย่างถูกต้องและรอบด้าน ซึ่งเชื่อมโยงในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นมิติการทำงานของหน่วยงานภาครัฐและงบประมาณ มิติของภาคประชาชน มิติทางเศรษฐกิจ มิติด้านสิ่งแวดล้อม มิติของเมืองและการขยายตัวของที่อยู่อาศัย มิติด้านเทคโนโลยี มิติด้านพฤติกรรมการบริโภคและวิถีเกษตรกรรม มิติความสัมพันธ์ในอาเซียน และเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ ฯลฯ เหล่านี้ล้วนแต่มีความเชื่อมโยงและเป็นกลไกของปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศทั้งสิ้น ซึ่งปัจจุบันความเข้าใจและการเชื่อมโยงปัญหาและสาเหตุของฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศทั้งภาคประชาชน ภาควิชาการและภาครัฐยังคงแยกส่วนกันอย่างชัดเจน ดังนั้นการมีข้อมูลที่ถูกต้อง รอบด้าน ตรงกัน และเข้าถึงได้ง่ายจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างความตระหนักรู้ของประชาชนและการกำหนดแนวนโยบายการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งระดับจังหวัดระดับภาคและระดับชาติ

ยุทธศาสตร์

  1. เสริมสร้างความเข้มแข็งของประชาชน ชุมชน ท้องถิ่น จัดการปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศ
  2. เสริมสร้างและผลักดันนโยบายสาธารณะในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศ
  3. เสริมสร้างความเข้มแข็งสภาลมหายใจเชียงใหม่เป็นสภาพลเมืองแบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและมีธรรมาภิบาล

ยุทธศาสตร์ที่ 1 : เสริมสร้างความเข้มแข็งของประชาชน ชุมชน ท้องถิ่น จัดการปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศ

ให้ความสำคัญกับการสร้างพลังมวลชนในการขับเคลื่อนประเด็นปัญหา(Social Movement)ภายใต้
ข้อมูลและข้อเท็จจริงของปัญหา เพื่อให้เกิดการตื่นรู้และแรงกระเพื่อมทางสังคม มุ่งเน้นประชาชนเป็นหลัก
ในการจัดการปัญหาฝุ่นควันมลพิษทางอากาศ โดยร่วมงานกับส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ภายใต้แผนงานตามเป้าประสงค์

  1. ประชาชน ภาคประชาสังคม ตระหนักรู้ถึงปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศในทุกมิติและปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและวิถีการผลิต ผ่านการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาในทุกระดับ
  2. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับชุมชนและภาคีที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนลดฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศ ไฟป่า และบรรจุแผนดังกล่าวให้เป็นภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  1. ประชาชนผู้เข้าร่วมกิจกรรมการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศกับสภาลมหายใจเชียงใหม่ มีความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาและสาเหตุของฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศเป็นอย่างดี
  2. ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศกับสภาลมหายใจเชียงใหม่ 
  3. มีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อลดแหล่งกำเนิดของปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศ
  4. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ มีแผนและงบประมาณในการทำงานเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศ
  5. เกิดข้อบัญญัติท้องถิ่นหรือเทศบัญญัติที่เกี่ยวกับการลดและแก้ไขปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศ
  6. มีพื้นที่ต้นแบบการขนส่งสาธารณะสีเขียวในเขตเมือง
  1. กลไกมูลนิธิเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ กองทุนเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ กองทุนพัฒนาเชียงใหม่อย่างยั่งยืน
  2. กระบวนการสภาพลเมือง พื้นที่ประชาธิปไตยทางตรงสำหรับขับเคลื่อนสภาลมหายใจเชียงใหม่
  1. แผนรณรงค์สร้างความตระหนักรู้เพื่อปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและวิถีการผลิต และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาในทุกระดับ
    (1)การจัดทำและรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศเพื่อการรณรงค์
    (2)การสื่อสารสาธารณะเพื่อการรณรงค์“รางวัลอากาศสะอาด” แก่ บุคคล บ้าน วัด โรงเรียน ชุมชน และธุรกิจ
    (3)การรณรงค์เพื่อสร้างความรับรู้และการมีส่วนร่วมในการผลักดันกฎหมาย”อากาศสะอาด”
    (4)การรณรงค์ลดการปล่อยฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศในระดับส่วนบุคคล ครอบครัวและชุมชน
    (5)การรณรงค์เพื่อลดผลกระทบด้านสุขภาพ มีกลไกเฝ้าระวังและเตือนภัยคุณภาพอากาศ การจัดการป้องกันตนเอง ส่งเสริมสุขภาพ ในภาวะวิกฤติฝุ่นควัน
  2. แผนงานเสริมความเข้มแข็งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาสังคมและชุมชน
    (1)ขับเคลื่อนกลไกในพื้นที่ระดับตำบล เพื่อให้เกิดการถ่ายโอนอำนาจจากราชการส่วนกลางและ ส่วนภูมิภาคสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สามารถเข้าถึงงบประมาณและตั้งงบประมาณ สนับสนุน การบริหารจัดการทรัพยากรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนและท้องถิ่น
    (2)สร้างพื้นที่ต้นแบบที่เข้มแข็งที่มีนัยยะทางยุทธศาสตร์
    – ต้นแบบ “กลไก” การจัดการร่วมในระดับพื้นที่ที่มีแผนการจัดการที่ดีและเข้มแข็ง การทำงานอย่างบูรณาการทุกภาคส่วนทั้ง ประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ภาคธุรกิจ หน่วยงานรัฐในพื้นที่ทั้งด้านป่า อุทยาน สุขภาพ ปกครอง พัฒนาสังคม ฯลฯ
    – การจัดการระบบสังคม และสิ่งแวดล้อม บ้าน วัด โรงเรียน ชุมชนสู้ฝุ่น การมีส่วนร่วมแก้ปัญหาโดยชุมชน องค์กรชุมชน และกลุ่มเปราะบาง
    – พื้นที่ต้นแบบเศรษฐกิจสีเขียว และการนำพื้นที่รูปธรรมต้นแบบที่มีอยู่ในท้องที่มาส่งเสริมและต่อยอด
    – พื้นที่ต้นแบบการปรับเปลี่ยนวิถีการเกษตรเชิงอุตสาหกรรมหรือเกษตรเชิงเดี่ยวเป็นพื้นที่เกษตรยั่งยืนผลิตภัณฑ์ลดการเผา ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ยั่งยืน เป็นต้น
    – การจัดการพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียวยั่งยืน การร่วมกับหน่วยงานรัฐ องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นในภารกิจเพิ่มพื้นที่สีเขียวพื้นที่สาธารณะ
    – การท่องเที่ยวโดยชุมชน การเชื่อมดอยกับเมือง การเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเมืองเก่าสู่ ดอยสุเทพที่ยั่งยืนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
  3. แผนพัฒนานโยบายขนส่งสาธารณะและรถไฟฟ้า
    (1)สร้างภาคีเครือข่ายขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่
    (2)  ส่งเสริมการสัญจรด้วยขนส่งสาธารณะ และขนส่งสาธารณะไฟฟ้า
    (3)ขับเคลื่อน “กลไก” คณะกรรมการจราจรระดับจังหวัด
    – แผนการจัดการเพื่อลดควันดำบนท้องถนน “รถสองแถวโมเดล”ซ่อมบำรุงระบบเครื่องยนต์
    – เพื่อลดมลพิษ และสร้างเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
    – โครงการ Smart School Link Model ลดฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศจากการคมนาคม ในเทศบาลนครเชียงใหม่ และบริการรับนักเรียนเพื่อลดการจราจรที่หนาแน่นช่วงชั่วโมงเร่งด่วน
    – สร้างนวัตกรรมความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะและผู้ประกอบการ จัดจำหน่ายและบริการซ่อมเครื่องยนต์และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
    – การทดลองปรับเปลี่ยนระบบขนส่งสาธารณะรอบเมืองเก่าเชียงใหม่(ต้นแบบรถแดงไฟฟ้า) ผลักดันให้เกิดช่องทางจักรยานและส่งเสริมการสัญจรด้วยการเดิน

ยุทธศาสตร์ที่ 2 : เสริมสร้างและผลักดันนโยบายสาธารณะในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศ

เน้นกระบวนการทำงานขับเคลื่อนในส่วนของราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากข้อเสนอนโยบายสาธารณะที่เกิดจากกระบวนการการมีส่วนร่วม โดยแผนงานและโครงการจะมุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานภาคี ภายใต้เงื่อนไขของผลประโยชน์ของประชาชนและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

  1. เพื่อสนับสนุนกลไกการทำงานร่วมกันของประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับตำบล ระดับจังหวัด ระดับภาค ระดับประเทศ และระดับภูมิภาค
  2. เพื่อสนับสนุนและผลักดันการจัดทำแผนแม่บทจังหวัดการจัดการปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืน
  3. เพื่อสร้างและผลักดันนโยบายอากาศสะอาดยั่งยืน
  1. มีกลไกคณะทำงานร่วมระดับจังหวัดแก้ไขปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศ ที่มีการดำเนินงานบริหารจัดการปัญหาอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี
  2. มีแผนแม่บทจังหวัดจัดการปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศระยะยาว (แผน 5 ปี พ.ศ. 2565 – พ.ศ. 2569)
  3. มีพระราชบัญญัติอากาศสะอาดยั่งยืน
  4. มีกลไกเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือขับเคลื่อนการแก้ปัญหาระดับภาค ระดับชาติ
  1. สร้างพันธมิตรยุทธศาสตร์หน่วยงานภาครัฐ ระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค ภาคีนักวิชาการภาคธุรกิจ และภาคีภาคประชาสังคม
  2. หน่วยยุทธศาสตร์ของสภาลมหายใจเชียงใหม่ที่ผลักดันให้เกิดนโยบายและสร้างกลไกทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ในการสื่อสารและผลักดันกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม
  3. กระบวนการสร้างนโยบายสาธารณะอย่างมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนสร้างพลเมืองตื่นรู้ในระดับตำบล ระดับจังหวัด ระดับภูมิภาคและระดับประเทศ
  1. แผนผลักดันนโยบายและมาตรการในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
    (1) สนับสนุนและผลักดันการจัดทำแผนแม่บทจังหวัดจัดการปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศ จังหวัดเชียงใหม่อย่างมีส่วนร่วมและบูรณาการทุกภาคส่วน
    – นโยบายการบริหารจัดการเชื้อเพลิงระดับจังหวัด การบริหารจัดการเชื้อเพลิงที่มีประสิทธิภาพลดผลกระทบปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศ ในพื้นที่เกษตรและพื้นที่ป่าไฟจำเป็นในพื้นที่ป่าผลัดใบและไร่หมุนเวียน
    – สร้างชุดความรู้ เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบัน ที่มาและความสำคัญ และแนวทางในการแก้ไขปัญหาเชื้อเพลิงและการเผาในพื้นเกษตรและพื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยว- – การพัฒนาระบบเศรษฐกิจสีเขียว ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ระบบเศรษฐกิจชุมชนที่พึ่งพิงทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน
    – การแก้ไขปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศร่วมกับภาคธุรกิจ การจับคู่พัฒนาระบบการเกษตรที่ยั่งยืน ลดการเผาในพื้นที่เกษตรและพื้นที่ป่า (โมเดลหนึ่งธุรกิจหนึ่งอำเภอ)
    – ระบบขนส่งสาธารณะที่ลดมลพิษทางอากาศ และการคมนาคมที่ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
    – การจัดการพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียวให้มีคุณภาพ
    – การสื่อสารสาธารณะด้วยข้อเท็จจริงตามบริบทของพื้นที่และสภาทางภูมิศาสตร์ โดยมีข้อมูลวิชาการสนับสนุน
    – การส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศ การป้องกันและดูแลตนเองในช่วงภาวะวิกฤตฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศ และผลักดันให้เกิดกลไกความร่วมมือในระดับนโยบายด้านสุขภาพระดับประเทศ
    – การจัดทำบัญชีการปลดปล่อยมลพิษทางอากาศของจังหวัดเชียงใหม่
    (2) ผลักดันให้บรรจุแผนงบประมาณจัดการและแก้ไขปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศในทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
    (3) การเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจในประเด็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (การจัดการเชื้อเพลิง)


  2. การเชื่อมโยงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศระดับภูมิภาค ในประเด็นปัญหาพืชเชิงเดี่ยวกับฝุ่นควันในประเทศและฝุ่นควันข้ามแดน แผนงานสร้างเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ
    (1)การจัดตั้งองค์กรเครือข่ายการจัดการปัญหาฝุ่นควันระดับภาคเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ การมีข้อตกลงหรือข้อเสนอเชิงนโยบายหรือการผลักดันนโยบายระดับประเทศร่วมกันของเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ ปี 2564-2565
    (2)งานขับเคลื่อนและผลักดันการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศที่มีผลต่อสุขภาพอย่างยั่งยืน (พ.ร.บ.อากาศสะอาด)
    (3)การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างจังหวัดต่างๆเพื่อก่อให้เกิดการสานพลังความรู้ ความร่วมมือ เพื่อการแก้ปัญหาฝุ่นควัน มลพิษอากาศอย่างยั่งยืนร่วมกัน
  3. แผนงานการสื่อสาร
    การสื่อสารภายในและภายนอกสภาลมหายใจ การสื่อสารสาธารณะ การสื่อสารเพื่อรณรงค์สร้างการเปลี่ยนแปลง การสื่อสารเพื่อผลักดันนโยบายสาธารณะ เกิดพลัง ร่วมแรง ร่วมใจ ร่วมปฏิบัติ ในการช่วยลดฝุ่นควันอย่างยั่งยืน

ยุทธศาสตร์ที่ 3 : เสริมสร้างความเข้มแข็งสภาลมหายใจเชียงใหม่ เป็นสภาพลเมืองแบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและมีธรรมาภิบาล

  1. มูลนิธิเพื่อลมหายใจเชียงใหม่เป็นองค์กรส่งเสริมการดำเนินงานแก้ปัญหาฝุ่นควันและมลพิษอากาศของจังหวัดเชียงใหม่อย่างยั่งยืน มีการบริหารจัดการอย่างมีคุณภาพและมีความโปร่งใส 
  2. สภาลมหายใจเชียงใหม่เป็นพื้นที่เปิดกว้างสำหรับทุกคนทุกภาคส่วนในการเข้าร่วมกันผนึกกำลังความคิด ความรู้ ก่อเกิดภาคียุทธศาสตร์ปฏิบัติการเพื่อมุ่งสู่เชียงใหม่มีอากาศสะอาดยั่งยืน
  3. บริหารจัดการกองทุนเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใส
  4. พัฒนากองทุนพัฒนาสุขภาวะเชียงใหม่ที่ยั่งยืนส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของภาคประชาสังคมให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใสในการร่วมแก้ปัญหาฝุ่นควัน มลพิษทางอากาศ
  1. จำนวนทรัพยากรต่างๆที่มูลนิธิเพื่อลมหายใจเชียงใหม่เป็นกลไกกลางเพื่อระดมทุน ระบบตรวจสอบประสิทธิภาพ การมีส่วนร่วม และความโปร่งใสในการบริหารจัดการ ระบบสวัสดิการสำหรับอาสาสมัคร คนทำงาน เพื่อขับเคลื่อนงานสภาลมหายใจ
  2. จำนวนภาคียุทธศาสตร์ สมาชิกสภาลมหายใจที่เพิ่มขึ้น มีความหลากหลายในทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับการก่อให้เกิดการทำงานร่วมกัน
  3. จำนวนโครงการและเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ดำเนินการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาสุขภาวะ จากสถานการณ์วิกฤตฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศ
  1. กลไกมูลนิธิเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ กองทุนเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ กองทุนพัฒนาเชียงใหม่อย่างยั่งยืน
  2. กระบวนการสภาพลเมือง พื้นที่ประชาธิปไตยทางตรงสำหรับขับเคลื่อนสภาลมหายใจเชียงใหม่
  1. แผนงานเสริมศักยภาพบุคลากร ระบบสวัสดิการ และความยั่งยืนของสภาลมหายใจเชียงใหม่
  2. แผนงานกองทุนร่วมทุนกับสำนักงานสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ(สสส.สำนักที่ 6) ต้นแบบธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ระบบเศรษฐกิจสีเขียว เสริมศักยภาพผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างยั่งยืน (Change Agents)
  3. แผนงานพัฒนาคุณภาพมูลนิธิเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ การยกเว้นภาษี / การระดมทุน / Branding : การยอมรับทางสังคม)
  4. แผนธุรกิจเพื่อสังคม สินค้าอากาศสะอาด ร้านรักษ์ดี  Branding สินค้าปลอดมลพิษลดฝุ่นควัน หน้ากากป้องกันฝุ่นและโควิด การลดขยะ การแยกขยะ การทำปุ๋ยหมักรักษ์โลก ฯลฯ
  5. แผนเสริมสร้างภาคียุทธศาสตร์และการปรึกษาหารือแบบประชาธิปไตยทางตรง ภาคียุทธศาสตร์ประกอบด้วย
    (1) หน่วยงานภาครัฐ ทั้งหน่วยงานราชการส่วนภูมิภาคและระดับชาติ
    (2) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระดับจังหวัด ระดับตำบล ระดับพื้นที่
    (3) หน่วยงานวิชาการ ทั้งมหาวิทยาลัยต่างๆ สถาบันวิชาการ สถาบันวิจัย
    (4) ภาคธุรกิจและสถาบันการเงิน
    (5) ประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรชุมชน โดยมุ่งเน้นขยายให้เกิดการประชุมปรึกษาหารือสภาลมหายใจเชียงใหม่ในระดับโซน 3 โซนคือ โซนเหนือ โซนกลาง และโซนใต้ เพื่อให้ประชาชน ชุมชน และภาคีต่างๆในระดับอำเภอเข้ามีส่วนร่วมในสภาลมหายใจเชียงใหม่เพิ่มมากขึ้น